หลังทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐอเมริกา ได้สำรวจพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง ล่าสุดได้มีการเผยผลการศึกษาออกมาว่า การสูดอากาศที่มีมลพิษในช่วงตั้งครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกเจริญเติบโตผิดปกติ
แม้จะมีผลการศึกษาวิจัยจำนวนมากที่บ่งชี้ถึงอันตรายของมลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพ และทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคหืด และอาการหมันในผู้ชาย แต่ยังไม่เคยมีการศึกษาใดที่วิเคราะห์ผลกระทบของมลพิษที่มีต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์เลย
ทีมวิจัยจากวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยเยล ในอเมริกา จึงร่วมมือกับโรงพยาบาลเด็ก และศูนย์สุขภาพมารดาในมณฑลกานซู ในการศึกษาข้อมูลของผู้หญิงกว่า 8,000 คนในหลานโจว ซึ่งเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในประเทศจีน ระหว่างปี 2010 ถึง 2012 เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า ฝุ่นละอองที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 10 ไมครอนลงมา หรือ PM10 จะส่งผลกระทบอย่างไรกับสตรีระหว่างตั้งครรภ์
ผลการศึกษาระบุว่า ระดับมลพิษในอากาศที่สูงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกในครรภ์มีศีรษะโตผิดปกติ โดยทีมวิจัยมองว่า การศึกษานี้ยังต้องอาศัยการศึกษาเพิ่มเติมในประชากรกลุ่มอื่นเพื่อยืนยันผลวิจัยนี้ รวมถึงต้องมีการขยายการศึกษาฝุ่นละอองอนุภาคอื่น นอกจาก PM10 เช่นกัน นอกจากนั้น ยังแนะนำว่า สตรีในเมืองหลานโจว สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อทารกได้ ด้วยการเลือกช่วงเวลาที่จะปฏิสนธิ หรือลดการออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ขณะที่สภาวะอากาศยังคงเต็มไปด้วยมลพิษ