'นกร้องเพลง' หรือ Songbird อาจเป็นกุญแจที่นำไปสู่การแก้ไขอาการบกพร่องทางภาษาและการพูดของมนุษย์ หลังนักวิจัยพบว่ากลไกในสมองของนกร้องเพลงและมนุษย์มีลักษณะคล้ายกัน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยร็อกเกอะเฟลเลอร์ ใช้เลเซอร์จับภาพสมองของนกร้องเพลงประเภทหนึ่ง และพบว่ามีการส่งสัญญาณคล้ายกับสมองมนุษย์ช่วงเริ่มหัดพูด นอกจากนั้น ยังพบว่านกมีอาการติดอ่าง ซึ่งนักวิจัยอาจหาวิธีทำให้นกเหล่านั้นติดอ่างคล้ายอาการในกลุ่มพาร์กินสัน เพื่อที่จะหาวิธีแก้ไขต่อไป แล้วค่อยลองไปแก้ไขจุดเดียวกันในมนุษย์
ความสามารถในการร้องเพลงเป็นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นกับนกบางประเภทเท่านั้น เช่น นกร้องเพลง นกแก้ว และนกฮัมมิงเบิร์ด โดยนกร้องเพลงมียีนราว 50 ยีน ที่คล้ายกับยีนที่มนุษย์ใช้ในการเปล่งเสียง โดยนกเหล่านี้สามารถเรียนรู้การร้องเพลงได้โดยการทำตาม หรือเลียนแบบจากสิ่งที่ได้ยิน
ดอกเตอร์เอริก จาร์วิส (Erich Jarvis) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า เขาและลูกทีมใช้เวลา 5 ถึง 7 ปี ในการระบุว่ายีนที่เกี่ยวข้องกับการร้องเพลงของนกเป็นยีนใดบ้าง และน่าจะใช้เวลาอีก 5 ถึง 7 ปี ในการคิดหาวิธีปรับแต่ง หรือแก้ไขความผิดปกติกับยีนกลุ่มนี้
การวิจัยนี้เก็บข้อมูลทั้งหมดจากกลุ่ม 'นกซีบรา ฟินช์' หรือ 'นกฟินช์ลายม้าลาย' ซึ่งเป็นนกร้องเพลงชนิดแรกที่มีการถอดรหัสทางพันธุกรรม
ทีมวิจัยคาดหวังว่า การเรียนรู้กลไกของนกสายพันธุ์ที่คล้ายกับมนุษย์มากเช่นนี้จะนำไปสู่การแก้ไขอาการผิดปกติได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ออทิสซึม สมองขาดเลือด ติดอ่าง และพาร์กินสัน