การที่เราต้องเสียเงินก้อนใหญ่สักก้อนอาจจะทำให้กระสับกระส่าย นอนไม่หลับไปหลายคืน แต่ผลกระทบที่ระยะยาวอาจจะน่ากลัวกว่านั้น เพราะผลการศึกษาระบุว่าคนที่เผชิญกับการสูญเสียทางการเงินครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงวัยกลางคน มีความเสี่ยงจะเสียชีวิตภายในอีกยี่สิบปีให้หลัง
Journal of the American Medical Association หรือ JAMA ตีพิมพ์รายละเอียดจากการศึกษาชิ้นหนึ่ง ที่ทำขึ้นโดยนักวิจัยจาก Northwestern University Feinberg School of Medicine เพื่อศึกษาความเกี่ยวโยงระหว่างสุขภาพและการสูญทรัพย์ โดยได้ศึกษาข้อมูลของอาสาสมัครอายุระหว่าง 51 ถึง 61 ปี จำนวน 8,700 คน ที่ต้องประสบกับเหตุการณ์การสูญเสียทรัพย์สินที่ตัวเองมีไปราว 75 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น ภายในช่วงระยะเวลาสองปี
การศึกษาครั้งนี้พบว่า การสูญเสียเงินที่เก็บสะสมมาทั้งชีวิตนั้นส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมามีชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบเหตุการณ์เสียทรัพย์เช่นนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ หรือ Great Recession ตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2010 และยังมีข้อมูลที่ระบุอีกว่า หนึ่งในสี่ของชาวอเมริกันอายุ 51 ปีขึ้นไปเคยเผชิญเหตุการณ์ที่ตัวเองต้องสูญเสียความมั่งคั่งทางด้านการเงินมาแล้ว
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังได้ศึกษากลุ่มคนในช่วงอายุเดียวกันนี้ซึ่งมีรายได้ต่ำและไม่เคยมีเงินเก็บก้อนโตเลยในชีวิตพบว่าคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตภายในยี่สิบปีข้างหน้ามากกว่ากลุ่มคนที่มีเงินเก็บสะสมเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ถึง 67 เปอร์เซ็นต์ และข้อมูลที่น่าประหลาดใจที่สุดคือการค้นพบว่า การมีเงินเก็บก้อนโตและสูญเสียเงินก้อนนั้นไปจะส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพเจ้าของเงิน มากพอๆ กับผลกระทบที่เกิดกับคนที่ไม่เคยมีเงินเก็บหรือสัมผัสความร่ำรวยมาก่อนในชีวิต
สาเหตุที่ทำให้ความเสี่ยงในการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นนั้นประกอบไปด้วย การที่ไม่สามารถมีเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ และความรู้สึกกระวนกระวาย วิตกกังวล ที่เกิดขึ้นจากการต้องเสียเงินก้อนใหญ่ไป อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป