องค์การอนามัยโลกเผยรายงานการศึกษาล่าสุดว่า หลายเมืองในประเทศอินเดียติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก
องค์การอวกาศยุโรปเผยแผนที่ทางช้างเผือกโดยละเอียด (แอน)องค์การอนามัยโลกเผยผลการศึกษาสภาพมลพิษทางอากาศใน 4,300 เมืองทั่วโลกระหว่างปี 2010 ถึง 2016 พบว่า เมืองในประเทศอินเดียหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นนิวเดลี พาราณสี และปัฏนา ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก โดยการศึกษานี้วัดจากเมืองที่มีฝุ่นละอองซึ่งมีอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางต่ำกว่า 2.5 ไมโครกรัมต่ออากาศหนึ่งลูกบาศก์เมตร
โดยกรุงเดลีขึ้นแท่นเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดอันดับหกของโลก มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 มากถึง 143 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นอันตรายต่อกลุ่มคนที่ไวต่ออากาศ
เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมของอินเดียมองว่า แม้ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกจะทำให้ประเทศอับอาย แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ โดยกระทรวงได้ทุ่มเงินราว 7 พันล้านรูปี หรือประมาณ 3,300 ล้านบาท ในปีงบประมาณนี้ในการติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศตามเมืองต่าง ๆ รวมถึงจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อช่วยลดจำนวนฝุ่นละออง เช่น ที่ฉีดน้ำ
กระทรวงสิ่งแวดล้อมยังกำหนดแผนการระยะหกเดือนไปจนถึงสองปีที่จะติดตั้งสถานีตรวจสอบคุณภาพอากาศบริเวณชานเมือง และศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพ รวมไปถึงติดตั้งระบบพยากรณ์คุณภาพอากาศในอนาคตอีกด้วย
นอกจากนั้น การศึกษานี้ได้สำรวจ 29 เมืองสำคัญในประเทศไทยระหว่างปี 2014 ถึง 2016 โดยเมืองที่มีมลพิษสูงสุดคือสระบุรี ซึ่งมีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ย 52 ไมโครกรัม ขณะที่กรุงเทพมีค่าฝุ่นละอองเฉลี่ยที่ 28 ไมโครกรัม โดยเมืองที่มีค่าฝุ่นละอองน้อยที่สุดคือ ภูเก็ต ที่ 13 ไมโครกรัม
องค์การอนามัยโลกเผยว่า ปัจจุบันมีประชากรราวเจ็ดล้านคนทั่วโลกที่เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศในแต่ละปี โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่ยากจนแถบทวีปเอเชียและแอฟริกา