กระบวนการขุดบิตคอยน์ใช้พลังงานไฟฟ้าต่อปีเทียบเท่าฮังการีหรือสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล จึงถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของภาวะโลกร้อน
งานวิจัยในปี 2018 ของมหาวิทยาลัยฮาวาย พบว่า พลังงานไฟฟ้าจำนวนมหาศาลที่ใช้ในการโอนถ่ายคริปโตเคอร์เรนซี หรือ เงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์นั้น อาจทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียสในปี 2033 ซึ่ง 2 องศาที่แตกต่างอาจทำให้ปริมาณน้ำในบางพื้นที่ อย่างแอฟริกาหรือแถบเมดิเตอเรเนียนลดลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้หมีขั้วโลกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และผู้คนกว่า 10 ล้านได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่ชายฝั่ง
ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากบิตคอยน์ไม่มีเซิร์ฟเวอร์ศูนย์กลางหนึ่งเดียวแบบธนาคารหรือรัฐบาล การทำธุรกรรมผ่านบิตคอยน์แต่ละครั้งเกิดจากการที่คอมพิวเตอร์จำนวนมหาศาลทั่วโลกประมวลผลสมการคณิตศาสตร์ เพื่อยืนยันรายการโอนต่าง ๆ ตลอดเวลา โดยการประมวลผลที่ว่า ซึ่งมีค่าตอบแทนเป็นบิตคอยน์นี่เอง ที่เรียกว่า 'การขุดบิตคอยน์' ฉะนั้น การขุดที่ต้องใช้ชิปประมวลจำนวนมากของนักขุดทั่วโลกนี้ย่อมใช้พลังงานมหาศาล และโรงงานขุดบิตคอยน์ก็มักใช้พลังงานถ่านหินราคาถูกเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า การทำธุรกรรมผ่านบิตคอยน์จึงเป็นที่มาของการใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมหาศาลซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนั้น ในงานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ผ่านวารสารจูล (Joule) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2019 อเล็กซ์ เดอ ฟรีส์ ผู้ชำนาญการพิเศษด้านบล็อกเชนจากบริษัท PwC ประเมินว่า การทำธุรกรรมผ่านบิตคอยน์แต่ละครั้งใช้พลังงานระหว่าง 491 ถึง 765 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับการโอนเงินที่ไม่ใช่เงินสดด้วยระบบของธนาคารปกติ ซึ่งใช้พลังงานเฉลี่ย 0.4 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงเท่านั้น
ส่วนในปี 2018 พลังงานที่บิตคอยน์ใช้ ยังก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 29.6 ล้านเมตริกตัน คาร์บอนฟุตพรินต์ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดในการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 233.4 ถึง 363.5 กิโลกรัม ขณะที่ การทำธุรกรรมด้วยวีซ่านั้นอยู่ที่ 0.4 กรัม ต่อครั้ง และการเซิร์ชข้อมูลด้วยกูเกิลก็อยู่ที่ 0.8 กรัมต่อครั้งเท่านั้น