ขณะนี้ประเทศออสเตรเลียได้นำโทนเนอร์ หรือผงหมึกสีดำจากเครื่องพิมพ์มารีไซเคิลเพื่อปูถนนแล้ว เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากกระบวนการทำลายหมึกเหล่านี้ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
บริษัทผลิตเครื่องพิมพ์หลายแห่งในออสเตรเลียได้พยายามนำโทนเนอร์ หรือผงหมึกสีดำที่เหลือใช้จากเครื่องพิมพ์นำกลับมาใช้ใหม่ ในรูปแบบของยางมะตอยปูถนน โดยบริษัทโตชิบาระบุว่า ในปี 2017 ได้มีการนำโทนเนอร์มารีไซเคิลมากถึง 228 ตัน
สำหรับโครงการนำโทนเนอร์มารีไซเคิลในรูปแบบยางมะตอย เพื่อซ่อมแซมรอยแตกร้าวบนถนนนี้มีชื่อว่า TonerPave ซึ่งคิดค้นโดย Downer บริษัทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของออสเตรเลีย โดยยางมะตอยที่นำมาใช้ประกอบด้วยผงหมึก/ ขี้ผึ้ง/แร่ธาตุ/ เม็ดสี/ เหล็กออกไซด์/ ซิลิกา และขยะจากสีอะคริลิก
โครงการนี้ถูกทดสอบครั้งแรกในปี 2010 และนับตั้งแต่ปี 2012 เมืองซิดนีย์สามารถรีไซเคิลโทนเนอร์ไปได้มากกว่า 20,000 ตัน นอกจากนั้น ยังมีการประเมินว่า ยางมะตอยจากผงหมึกช่วยลดการปล่อยมลภาวะสู่ชั้นบรรยากาศได้มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบการยางมะตอยทั่วไป
ปัจจุบันบริษัทเครื่องพิมพ์หลายแห่งพยายามผลักดันโครงการรักษ์โลกในลักษณะที่คล้ายกัน เช่น Lexmark และ Kyocera ที่ร่วมมือกับองค์กร Close the Loop ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้น ตลับหมึกโทนเนอร์ยังสามารถนำมาใช้ทำม้านั่งในสวนสาธารณะได้ รวมถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ ของโทนเนอร์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นปากกาและไม้บรรทัดได้เช่นกัน
มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ และกลุ่มสมาชิกในอุตสาหกรรมนี้ ระบุว่า E-waste หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก และพบว่ามีเพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ของขยะเหล่านี้ที่ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งประเทศออสเตรเลีย แม้จะผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ แต่กลับมีอัตราส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อคนมากที่สุด ดังนั้นหลายฝ่ายจึงเริ่มให้ความสนใจที่จะกำจัด E-waste อย่างจริงจัง