อาจารย์ด้านจิตวิทยาในอเมริกาเปิดเผยว่า สมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียทำให้คนรุ่นใหม่มีความสุขน้อยลง จนได้ชื่อว่าคนรุ่นนี้อยู่ในยุค ‘iGen’ ที่มีอารมณ์เปราะบาง
จีน ทเวนจ์ (Jean Twenge) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาลัยซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับคนยุคใหม่อย่าง ‘iGen’ และ ‘Generation Me’ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีถึง ‘iGen’ ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เกิดหลังปี ค.ศ. 1995 ว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูง เพราะใช้สมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียมากเกินไป
ทเวนจ์อธิบายว่า กลุ่ม iGen เป็นเจเนอเรชันแรกที่ใช้ชีวิตวัยรุ่นท่ามกลางสมาร์ตโฟนอย่างเต็มรูปแบบ จึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการท่องโลกออนไลน์และมีอาการติดจอ จนไม่ค่อยทำกิจกรรมอื่น หรือไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นต่อหน้า ซึ่งส่งผลให้โตช้ากว่าคนยุคก่อน เพราะคนกลุ่มนี้อยากรู้สึกปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา จึงไม่อยากทำอะไรที่เสี่ยง แต่ขณะเดียวกันก็กลัวตกกระแส
ระหว่างปี 2011 - 2012 ทเวนจ์พบว่ามีจำนวนวัยรุ่นที่รู้สึกเหงาหรือรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอาการของโรคซึมเศร้า โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์ และมีจำนวนวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตายมากขึ้นสองเท่าในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สมาร์ตโฟนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
โดยทเวนจ์แนะนำว่า ผู้ปกครองควรจำกัดเวลาเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 13 - 18 ปี ให้ใช้สื่อดิจิทัลได้วันละสองชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น และควรใช้โซเชียลมีเดียเพื่อติดต่อกับเพื่อน วางแผนกิจกรรมร่วมกัน และดูวิดีโอได้บ้างเล็กน้อย ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์ได้ดีที่สุด และจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตได้มากขึ้น