ผลสำรวจล่าสุดอาจไม่ทำให้ผู้รับฟังข้อมูลประหลาดใจเท่าไร แต่การมีตัวเลขมาชี้วัดเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและอาจนำไปสู่วิธีบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาได้ในอนาคต จากที่ล่าสุดมีการเปิดเผยว่า 'มิลเลนเนียล' และคน Gen Z มองชีวิตใน���ง่ร้ายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งชีวิตตนเองและมุมมองต่อการทำธุรกิจ
บริษัทที่ปรึกษาและวิเคราะห์ตลาดระดับโลก เปิดเผยผลสำรวจทัศนะคนรุ่นใหม่ ที่ครอบคลุมทั้งมิลเลนเนียลและ 'เจน ซี' (Gen Z) โดยพบว่าคนกลุ่มนี้มองโลกในแง่ร้ายและมีความกระวนกระวายมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งในอนาคตอาจนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจ-สังคมที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
ผลสำรวจดังกล่าวรวบรวมข้อมูลตลอด 8 ปีที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างมิลเลนเนียล (อายุ 25 - 36 ปี) 13,416 คน ใน 42 ประเทศ และ Gen Z (อายุ 17 - 24 ปี) 3,009 คน ใน 10 ประเทศ พบว่าส่วนใหญ่ไม่พึงพอใจกับชีวิตของตนเอง และไม่เห็นว่าการทำธุรกิจจะทำให้เกิดผลกระทบในแง่ดีในภาพรวม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ธุรกิจต่าง ๆ กำลังสูญเสียความเชื่อมั่นจากคนกลุ่มนี้
ผลสำรวจชี้ว่า มิลเลนเนียล 43 เปอร์เซ็นต์ ไม่พอใจรายรับของตนเอง ขณะที่ Gen Z ไม่พอใจ 34 เปอร์เซ็นต์ โดยครึ่งหนึ่งของมิลเลนเนียลระบุชัดเจนว่าจะลาออกจากงานที่ทำอยู่ตอนนี้ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ ราว 1 ใน 3 ของกลุ่มมิลเลนเนียลนี้ ตอบว่าจะลาออกภายใน 5 ปี โดยให้เหตุผลว่ามาจากเรื่องค่าจ้างและความไม่ก้าวหน้าทางอาชีพ
แม้คนทั้งสองกลุ่มจะมองโลกคล้ายกัน แต่กลับให้ความสำคัญกับสิ่งที่แตกต่างกัน ด้วยความแตกต่างทางอายุ โดยสิ่งที่เหมือนกันชัดเจนคือทั้งสองกลุ่มให้ความสำคัญกับการมีบ้านและสร้างครอบครัวน้อยลงจากคนรุ่นก่อน ขณะที่ ส่วนใหญ่ต้องการออกเดินทางและไป 'เปิดโลก' มากที่สุด (57 เปอร์เซ็นต์) อีกข้อที่เหมือนกันคือ การให้ความสำคัญกับ 'รายได้ที่สูง' เป็นหลัก ขณะที่ สิ่งที่แตกต่างกันคือ 'สถาบัน' ที่คาดหวังให้ผลักดันพวกเขาไปในจุดที่ดีขึ้น โดย Gen Z คาดหวังกับโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ส่วนมิลเลนเนียลก็คาดหวังกับธุรกิจเอกชนต่าง ๆ รวมถึงบริษัทนายจ้างด้วย
ความเห็นของคนรุ่นใหม่ทั้งสองกลุ่มจะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาจากกลุ่มตัวอย่างนอกสหรัฐฯ เช่น จีนและอินเดีย ที่ประชากรโดยรวมมองโลกแง่ดีกว่า และทำให้สามารถสรุปได้เบื้องต้นว่า ประเทศที่เศรษฐกิจก้าวหน้ากว่ามีแนวโน้มที่พลเมืองจะรู้สึกเหมือน 'ถึงทางตัน' และไม่มีทางพัฒนามากกว่า
ประเด็นอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากชีวิตความเป็นอยู่ ที่พวกเขาเหล่านี้รู้สึกกังวลใจ รวมถึงเรื่องโลกร้อน สภาพสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ การกระจุกตัวของกลุ่มคนที่มั่งคั่ง อาชญากรรม การก่อการร้าย และความปลอดภัยส่วนบุคคล
สื่อของประเทศเพื่อนบ้านเราอย่าง สิงคโปร์ ก็สนใจผลสำรวจนี้เช่นกัน โดยเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในจำนวนผู้ตอบสำรวจของดีลอยต์ มี 200 คน เป็นชาวสิงคโปร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามุมมองของคนกลุ่มนี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของธุรกิจ ธรรมเนียมปฏิบัติ และภาวะผู้นำของประเทศในอนาคต
ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ Today ระบุว่า ชาวสิงคโปร์ได้คะแนนดัชนีอารมณ์ที่ 35 ต่ำกว่าประเทศในระดับเดียวกัน ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 39 โดยสิ่งที่คนรุ่นใหม่ในประเทศกังวลมากที่สุดคือความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ (28 เปอร์เซ็นต์) การว่างงาน (27 เปอร์เซ็นต์) และโลกร้อน (22 เปอร์เซ็นต์) ขณะที่ โดยรวมแล้ว มีชาวสิงคโปร์เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ที่พอใจกับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่พอใจชีวิต 29 เปอร์เซ็นต์