องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล เรียกร้องให้ผู้นำประเทศทั่วโลกร่วมกันต่อสู้เพื่อปกป้องสัตว์ป่า หลังจากที่รายงานล่าสุดเผยว่า จำนวนสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 60 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เปิดเผยรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อม The Living Planet Report 2018 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 ต.ค.) ที่ระบุว่า ‘ธรรมชาติต้องได้รับการฟื้นชีพ’ เนื่องจากจำนวนประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกได้ลดลงเฉลี่ย 60% นับจากปี 1970 โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นก และปลา ที่มีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก
รายงานระบุว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณสัตว์ป่าลดลงมาจากการทำลายป่าไม้ มหาสมุทร การใช้พื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติในมหาสมุทรมากเกินไป รวมถึงการทำเกษตรเพื่อรองรับการบริโภคของมนุษย์ ซึ่งมาตรการป้องกันสัตว์ป่าในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพหรือความพยายามเพียงพอ
รายงานยังชี้ว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของนกทะเลทั่วโลกอาจมีขยะพลาสติกอยู่ในท้อง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 1960 ที่มีเพียง 5% การเปิดให้มีการล่าสัตว์ยังทำให้จำนวนช้างแอฟริกันในแทนซาเนียยังลดลง 60% ระหว่างปี 2009 - 2014 นอกจากนั้น ยังคาดการณ์ว่าอุรังอุตังบอร์เนียวกว่า 1 แสนตัวได้สูญหายไปจากป่าระหว่างปี 1999-2015
WWF จึงเรียกร้องให้ผู้นำของแต่ละประเทศตระหนักถึงปัญหานี้และร่วมกันแก้ไข เพื่อสะท้อนภาวะผู้นำที่แท้จริง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลกต่อไป โดยนักธุรกิจทั่วโลกยังควรตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน