วัฒนธรรม 995 และ 996 ในจีน เป็นที่นิยมของบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ตอัปในจีน แม้ในระยะยาวอาจเป็นการทำลายสุขภาพพนักงาน
วัฒนธรรมในการทำงานขององค์กรต่าง ๆ ในแต่ละประเทศเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมและคุณค่าความดีงามของสังคมนั้น ๆ และอาจรวมถึงความจำเป็นในเชิงเศรษฐกิจ อย่างเช่นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมการทำงานที่กำลังมาแรงในประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับบริษัทเทคโนโลยีหรือสตาร์ตอัป และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่เศรษฐกิจโดยรวมกำลังชะลอตัวเช่นนี้ โดยวัฒนธรรมที่ว่านี้เรียกว่า 995 และ 996 ซึ่งมาจากตัวเลข '9โมงเช้า' ถึง '9 โมงเย็น' หรือก็คือ 3 ทุ่ม ติดต่อกันเป็นเวลา '5 วัน' หรือ '6 วัน' เท่ากับว่า พนักงานบริษัทยึดถือแนวทางนี้จะต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมงทีเดียว
สิ่งนี้เป็นประเด็นฮอตที่ถูกพูดถึงอย่างมากเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในประเทศจีน หลังมีผู้โพสต์ถามถึงกิจวัตรการทำงานของพนักงานบางบริษัทในเว็บไซต์ด้านการหางานชื่อดัง ก่อนจะมีการตอบและส่งต่อเป็นไวรัลทั่วอินเทอร์เน็ต โดยผู้โพสต์อ้างตัวเป็นลูกจ้างของ เจดี.คอม อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ระบุว่าเขาได้ยินข่าวลือว่าบริษัทของเขากำลังจะบังคับใช้แนวทาง 995 อย่างจริงจัง และถามว่ามีใครเคยเห็นคำสั่งอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้บ้าง หลังจากโพสต์ไปไม่นาน ก็มีชาวเน็ตให้ความสนใจมาออกความเห็นกันจำนวนมาก รวมถึงข้อความที่ว่า 'นี่เป็นการพยายามไล่คนออกทางอ้อม' ขณะที่ บางคอมเมนต์ชี้ว่า บริษัทของพวกเขา 'โหด' กว่า 995 เสียด้วยซ้ำ พวกเขาต้องเจอกับ 996 จึงไม่น่าจะมองเป็นเรื่องแปลก หากข่าวลือที่ว่าจะเป็นจริง
เดิมที วัฒนธรรมเช่นนี้มีอยู่เฉพาะกลุ่มธุรกิจ เช่น ด้านการเงิน การธนาคาร และการลงทุน เนื่องจากมีเม็ดเงินไหลเข้าออกขจำนวนมากอย่างไม่เป็นเวลา จนกลายเป็นเหมือนกฎไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน แต่เป็นที่รู้กันดีในอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ผู้คนในอุตสาหกรรมยังเห็นว่าแนวทางนี้เป็นการสะท้อนถึงจริยธรรมในการทำงานอย่างหนึ่งด้วย นั่นก็คือ เป็นข้อพิสูจน์ว่าคนคนหนึ่งจะทุ่มเท และเสียสละตัวเองเพื่องานได้มากแค่ไหน ซึ่งอุตสาหกรรมที่รับแนวทางนี้มาใช้ในปัจจุบันคือ บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตอย่างมากในประเทศจีน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า 996 จะทำให้พนักงานทำผลงานได้น้อยลง และร่างกายเสื่อมโทรมในระยะยาว
จูหนิง ผู้ก่อตั้งและบริหารบริษัทอีคอมเมิร์ซ 'โหย่วจ้าน' เคยทำให้สังคมจีนหันมาถกเถียงถึงวิธีการทำงานแบบนี้อย่างหนัก หลังออกมาประกาศใช้แนวทาง 996 กับพนักงานของตนเอง โดยระบุชัดเจนว่า 'ถ้าคุณไม่รู้สึกกดดันในการทำงาน คุณก็ควรลาออกไป เพราะการไม่มีแรงกดดัน คือบรรยากาศการทำงานขององค์กรที่กำลังจะตาย'
ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีน ไม่ได้ทำให้สถานการณ์นี้ดีขึ้นเท่าไร ในทางกลับกัน ยิ่งย่ำแย่ลงเสียด้วยซ้ำ เพราะบริษัทเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตยิ่งเลือกที่จะปรับลดคนงาน แต่ยังต้องการผลผลิตเพื่อเดินหน้าทำรายได้ต่อไป และการยอมรับที่จะทำงานแบบ 995 หรือ 996 ไม่ใช่การยอมรับการทำงานหนัก หรือเป็นผู้เสียสละแต่อย่างใด เนื่องจากการ 'ไม่ทำ' จะหมายถึงการ 'ไม่มีงานทำ' ไปโดยปริยาย ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนงานหรือหาที่ทำงานใหม่ ก็เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เท่ากับว่ามนุษย์เงินเดือนจำนวนมาก ไม่มีทางเลือกใด ๆ นอกจากการทำงานในรูปแบบที่บริษัทกำหนด
เว็บไซต์ด้านการหางานของจีนออกมายืนยันถึงสภาวะนี้ โดยระบุว่าปัจจุบัน อัตราการจ้างงานในประเทศลดลงถึง 15 เปอร์เซ็นต์ในธุรกิจด้านเทคโนโลยี แม้จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเปิดรับทำงานมากที่สุดแล้วก็ตาม สภาวะเช่นนี้ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมการทำงานแบบ 995 หรือ 996 เฟื่องฟู เพราะตัวพนักงานจำนวนมากเองก็ยอมรับ หรือแม้แต่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหัวหน้างานของพวกเขาทำงานแบบไม่ยอมกลับบ้าน ทำให้ไม่มีใครกล้ากลับก่อน กลายเป็นวงจรที่ถูกทำซ้ำ และทำให้คนในระบบยอมรับชะตากรรมไปอย่างไม่มีเงื่อนไข
ด้านบริษัท เจดี.คอม ระบุในแถลงการณ์ถึงแนวทางการทำงานของบริษัทว่า 'พลังในการทำงานเป็นรากฐานของบริษัทมาโดยตลอด และการขับเคลื่อนบริษัทไปข้างหน้าก็จำเป็นต้องมีสิ่งนี้ เราเชื่อว่า การทำงานหนักและ "เทหมดหน้าตัก" (all in) จะนำไปสู่ผลสำเร็จที่ต้องการ'