การเปิดตัวอุปกรณ์ใหม่ที่รองรับระบบผู้ช่วยส่วนตัว 'อเล็กซา' ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวในหมู่สื่อมวลชนสายเทคโนโลยี โดยบางส่วนเกรงว่าการมีระบบดังกล่าวภายในบ้าน จะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว และผู้บริโภคก็ยังไม่ตระหนักถึงอันตรายเท่าที่ควร
เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว แอมะซอนเพิ่งเปิดตัวลำโพงเอคโครุ่นใหม่ และอุปกรณ์อื่นที่ติดตั้งเอคโคไว้ภายในตัว ที่งานแถลงข่าวในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน รวมสินค้าทั้งหมด 13 ชิ้นด้วยกัน ซึ่งนอกจากจะมีลำโพงอัจฉริยะเอคโครุ่นใหม่ ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถนำระบบผู้ช่วยส่วนตัว 'อเล็กซา' เข้าไปไว้ในรถยนต์ได้แล้ว ยังมีนาฬิกาและไมโครเวฟอัจฉริยะ ที่กลายเป็นที่สนใจทันทีหลังจบงานแถลงข่าวลง
ซีเอ็นเอ็น มันนี รายงานว่า การเปิดตัวไมโครเวฟที่ผู้ใช้สามารถสั่งงานด้วยเสียงผ่านอเล็กซานั้น แอมะซอนไม่ได้หวังที่จะทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากสินค้าราคา 60 ดอลลาร์ หรือเกือบ 2,000 บาทนี้เท่าไรนัก และแอมะซอนอาจไม่ได้หวังทำตลาดจากสินค้าที่ผนวกเอาเอคโคเข้าไปเป็นฟีเจอร์การใช้งานหนึ่งเลย
แต่บริษัทกำลังมุ่งสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น นั่นก็คือ การทำให้มีอเล็กซาอยู่ทุกหนทุกแห่ง โดยที่ผู้ใช้ไม่ได้รู้สึกถึงการมีอยู่นั้น และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด
เวอร์เนอร์ เกิร์ตซ์ นักวิเคราะห์จากบริษัทวิเคราะห์ตลาด การ์ตเนอร์ กล่าวว่าแอมะซอนกำลังลงทุนกับ 'ความแพร่หลาย' และเมื่อสินค้าหรือเทคโนโลยีใดแพร่หลาย ก็จะทำให้เกิด Infrastructure หรือ โครงสร้างพื้นฐานตามมา
เขาระบุว่า แอมะซอนต้องการให้ผู้คนเคยชินกับ 'ระบบนิเวศ' เชิงเทคโนโลยีแบบนี้ ส่วนการสร้างรายได้หลักของบริษัท ก็ยังจะอยู่ที่การเลือกซื้อสินค้าบน Amazon.com การบริโภคคอนเทนต์ใน แอมะซอน ไพรม์ และการใช้บริการอื่น ๆ ในเว็บไซต์อยู่เช่นเดิม
ด้านนักวิเคราะห์อีกคนจาก ฟอร์เรสเตอร์ อย่าง จูลี แอสก์ ให้ความเห็นว่า ระบบสั่งงานด้วยเสียงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรวบรวมข้อมูลของลูกค้า และบริษัทใหญ่ต่าง ๆ ก็หันมาจับเทคโนโลยีรวบรวมข้อมูลกันมากขึ้น เช่น กูเกิลที่มีข้อมูลผู้ใช้อีเมล ปฏิทิน และโลเคชัน ขณะที่ แอปเปิลก็รู้ทุกอย่างบนสมาร์ตโฟนของตน
แอสก์กล่าวว่า การมีบทสนทนาทั่วไปกับไมโครเวฟ หรืออุปกรณ์ภายในบ้านอื่น ๆ มีมูลค่าต่อแอมะซอนมากกว่าเงินที่ใช้ไปเพื่อซื้ออุปกรณ์เหล่านั้น เพราะเท่ากับว่าบริษัทจะมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคแต่ละคนของตนอย่างละเอียด
ลีโอนิด เบอร์ชิดสกี (Leonid Bershidsky) คอลัมนิสต์รับเชิญของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก แสดงความกังวลถึงการเปิดตัวอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีระบบผู้ช่วยอัจฉริยะพร้อม ๆ กันเช่นนี้ โดยระบุว่า หากผู้ใช้ติดตั้งทุกอย่างไว้ภายในบ้าน เท่ากับว่า ผู้ใช้จะถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวจากทุกอย่างในบ้านตัวเองเช่นกัน และคำว่า 'ความเป็นส่วนตัว' ก็ไม่ถูกอ้างถึงในการแถลงข่าวเปิดตัวสินค้าทั้งหมดนี้เมื่อวันก่อนเลยแม้แต่น้อย
ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ แอมะซอน เอคโค เคยมีกรณีการบันทึกบทสนทนาส่วนตัวของผู้ใช้ไว้ และส่งต่อไปยังคนในลิสต์เบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้คนนั้น โดยเป็นความผิดพลาดของระบบ ที่ตีความคำพูดหนึ่งในบทสนทนานั้นว่าเป็นคำสั่งให้ส่งข้อมูล
บทความนี้ของเบอร์ชิดสกีระบุว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยอมที่จะเสียสละความเป็นส่วนตัวเพื่อความสะดวกในการใช้งานอุปกรณ์ โดยไม่คิดว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถส่งผลเสียต่อผู้ใช้ได้ และลำโพงอัจฉริยะเหล่านี้ ซึ่งมีผู้บริโภคในสหรัฐฯ ถึง 1 ใน 3 มีไว้ภายในบ้าน อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น
สิ่งที่แอมะซอนต้องการหลังจากนี้ ดูจะเป็นการใช้งานอเล็กซานอกตัวบ้าน จากที่มีการใช้งานอยู่แค่ภายในตัวบ้าน โดยการเปิดตัว 'เอคโค ออโต' อาจถือเป็นการเจริญรอยตาม 'สิริ' ของแอปเปิล และ 'แอสซิสเตนต์' ของกูเกิล ที่มีการใช้งานในรถยนต์แล้ว ผ่านสมาร์ตโฟนและระบบบิลต์-อินภายในรถยนต์
ซีเอ็นเอ็น มันนี ทิ้งท้ายบทความเกี่ยวกับไมโครเวฟอัจฉริยะของแอมะซอนไว้ด้วยความเห็นของ จัสตีน แคสเซลล์ ศาสตราจารย์จากสถาบันปฏิสัมพันธ์มนุษย์กับคอมพิวเตอร์ จากสถาบันคาร์เนกี เมลลอน ในอเมริกา ที่ระบุว่า 'สุดท้ายแล้วก็ยังไม่รู้ว่าระบบผู้ช่วยนี้จะทำได้แค่ตอบคำถามผู้ใช้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็ทำให้คนเราไม่ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตามธรรมชาติ หรือเทคโนโลยีนี้จะพัฒนาไปเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้จริง ๆ กันแน่'