อาจารย์มหาวิทยาลัยดังและนักเขียนรับเชิญของนิตยสารดัง ออกมาตีแผ่การเหยียดสีผิวในวงวิชาการอย่างน่าสนใจ ขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องให้สถาบันการศึกษาในสหราชอาณาจักรให้โอกาสนักวิจัยอย่างเท่าเทียม
นิตยสาร British Vogue เพิ่งเผยแพร่บทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเชื้อชาติ ซึ่งเขียนโดยคอลัมนิสต์รับเชิญอย่างอาจารย์ นิโคลา โรลล็อก จาก Goldsmiths, University of London ที่ออกมาเสนอแนะให้มหาวิทยาลัยทั่วสหราชอาณาจักรว่าจ้างนักวิชาการผิวสีมากขึ้น โดยใช้ชื่อบทความว่า We Urgently Need More Black Female Professors In UK Universities หรือ 'เราต้องการศาสตราจารย์หญิงผิวสีในมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรอย่างยิ่ง' ซึ่งเมื่ออ่านชื่อหัวข้ออย่างผ่าน ๆ ผู้อ่านจำนวนหนึ่งอาจไม่เห็นด้วยกับเธอ แต่เมื่อพิจารณาจากตัวเลขจำนวนอาจารย์มหาวิทยาลัยและเรื่องเล่าของนักวิชาการผิวสีหลายคนที่เธอยกตัวอย่างมาแล้ว นี่อาจเป็นข้อเสนอแนะที่ 'ฟังขึ้น' ไม่น้อย
โรลล็อก ระบุว่า ปัจจุบันมีนักวิชาการผิวขาวในสหราชอาณาจักรจำนวนมาก โดยศาสตราจารย์ชายผิวขาวมีอยู่มากกว่า 12,000 คน คิดเป็น 15 % ของนักวิชาการชายผิวขาวทั้งหมด ขณะที่ ศาสตราจารย์หญิงผิวขาวมีอยู่ 4,000 คน คิดเป็น 6 % ของนักวิชาการหญิงผิวขาวทั้งหมด แต่กลุ่มประชากรนักวิชาการที่มีอยู่น้อยจนไม่น่าเชื่อ ก็คือ ศาสตราจารย์หญิงผิวสีชาวอังกฤษ ซึ่งนับรวมทั้งที่มีเชื้อสายจากแคริบเบียน และจากแอฟริกา ที่มีเพียง 25 คนเท่านั้น และจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 2 % ของนักวิชาการหญิงผิวสีทั้งหมด เท่ากับว่าสัดส่วนในการ 'ได้รับการยอมรับ' ในเชิงวิชาการ น้อยลงเรื่อย ๆ ตามกลุ่มประชากร ซึ่งการยอมรับในแวดวงวิชาการนี้หมายรวมถึง การให้โอกาสในการเลื่อนขั้น เช่น ผู้ช่วยอาจารย์ เป็นอาจารย์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เป็นรองศาสตราจารย์ และเป็นศาสตราจารย์ เป็นต้น
จากการลงพื้นที่ทำวิจัยและพูดคุยกับศาสตราจารย์หญิงผิวสีที่มีอยู่ไม่มากเหล่านี้ โรลล็อกพบว่าพวกเธอยืนยันสมมุติฐานที่น่าตกใจ นั่นก็คือ พวกเธอทั้งหมดต้องลงแรงมากกว่านักวิชาการผิวขาว เพื่อให้ได้ผลงานและการยอมรับในระดับเดียวกัน ทั้งนี้ อาจารย์ 3 คน ที่ใช้นามสมมุติว่า โลลา คอนสแตนซ์ และโรเบอร์ตา อธิบายว่าแม้พวกเธอจะมีคุณสมบัติ ประสบการณ์ และความรับผิดชอบมากเท่าใด แต่ก็ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นอย่างเป็นธรรม ขณะที่ พวกเธอเห็นว่ามีนักวิชาการหญิงผิวขาวหลายคน ได้รับความเชื่อถือและอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน โดยที่มีคุณสมบัติน้อยกว่า
คุณสมบัติที่ว่านี้ รวมถึงจำนวนงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์และระยะเวลาการเป็นอาจารย์สอนนักศึกษา ซึ่งสิ่งที่น่าหงุดหงิดสำหรับพวกเธอ ในฐานะคนกลุ่มน้อยในวงการศึกษาก็คือ เมื่อมีหัวหน้างานบอกว่าสำหรับพวกเธอแล้ว การได้ปรับจากลูกจ้างพาร์ตไทม์เป็นฟูลไทม์ถือว่าเป็นการเลื่อนขั้นทางหนึ่ง เพราะฉะนั้น ต่อให้ไม่ได้ตำแหน่ง 'ศาสตราจารย์' หรือเลื่อนขั้นจริง ๆ ในทางวิชาการ ก็ยังถือเป็นความก้าวหน้าที่น่าพอใจ ขณะที่ คนกลุ่มเดียวกันนั้นให้ความเห็นต่อการขึ้นเป็นศาสตราจารย์หรือการเลื่อนขั้น ซึ่งรวมถึงขั้นเงินเดือนด้วย ของหญิงผิวขาวว่า 'พวกเธอเพิ่งมีลูก จึงต้องการเงิน การได้ตำแหน่งจึงสมควรแล้ว' และเมื่อพิจารณาจากทั้งสองกรณีนั้น ก็เห็นได้ชัดเจนว่าไม่เป็นธรรมและมีอคติแฝงอยู่มาก
อีกหนึ่งคอมเมนต์ที่น่าตกใจ สำหรับการปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการของผู้หญิงผิวสีก็คือ เมื่อทางมหาวิทยาลัยให้เหตุผลว่า 'ใบสมัครมีคำที่พิมพ์ผิด' จึงตัดสิทธิ์ทิ้งไป ส่วนอีกคนก็เจอเพื่อนร่วมงานชายเข้าใจผิดว่าเธอเดินเข้าห้องไปในฐานะ 'ตัวแทนนักศึกษา' และไม่ได้มีความคิดอยู่ในหัวแม้แต่น้อยว่าผู้หญิงผิวสีตรงหน้ามีคุณสมบัติและความรู้เทียบเท่ากับตัวเขา ทั้งหมดนี้ทำให้พวกเธอต้องลงแรงมากกว่าคนอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งทางวิชาการ แต่ท่ามกลางกระบวนการเหล่านั้น ก็มีนักวิชาการหญิงจำนวนมากล้มเลิกความตั้งใจ จึงถือเป็นความสูญเสียที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของประเทศ และแวดวงวิชาการในระดับสากล
ยิ่งไปกว่านั้น นักวิชาการที่ต้องการเป็นศาสตราจารย์ยังต้องได้รับการรับรองหรือแนะนำจากหัวหน้าภาควิชา เท่ากับว่า หากบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้รับการสนับสนุน หรืออีกนัยหนึ่งคือ 'เป็นที่รักของหัวหน้า' มากพอ ก็แทบจะไม่มีโอกาสในการเติบโตใสายงานวิชาการเลย สุดท้ายแล้ว โรลล็อกทิ้งท้ายคอมลัมน์ของเธอไว้อย่างชวนคิดว่า 'ฉันอดคิดไม่ได้เลยว่า ประเทศเราจะมีศาสตราจารย์หญิงผิวสีจริง ๆ กี่คนกันแน่ ถ้าหากว่าพวกเราไม่ต้องพยายามมากกว่าคนอื่นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้'