งานวิจัยในสกอตแลนด์ชี้ว่า การทำปริศนาอักษรไขว้ ซูโดะกุ หรือต่อจิ๊กซอว์ ไม่ได้ช่วยป้องกันภาวะเสื่อมถอยของสมองในวัยชราอย่างที่เคยเชื่อกันมา
ทีมนักวิจัยจากสกอตแลนด์ นำโดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งอเบอร์ดีน ระบุว่า การทำกิจกรรมพัฒนาสมอง เช่น ต่อจิ๊กซอว์ เรียนภาษาต่างประเทศ หรือทำปริศนาอักษรไขว้ ซึ่งเคยเชื่อกันมาตลอดว่าช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ไม่ได้ช่วยป้องกันภาวะดังกล่าวแต่อย่างใด โดยพิจารณาจากข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 498 คน ที่เกิดในปี 1936 ซึ่งถูกเก็บข้อมูลครั้งแรกเมื่อพวกเขาอายุได้ 11 ปี และอีกครั้งอายุ 64 ปี จากนั้นจึงเก็บสถิติต่อเนื่องอีก 15 ปีหลังจากนั้น
ด้านนักวิจัยโรคอัลไซเมอร์ จากสมาคมอัลไซเมอร์สหราชอาณาจักร ให้ความเห็นว่า แม้กิจกรรมพัฒนาสมองจะไม่ได้ป้องกันสมองเสื่อม แต่ก็สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุได้ใช้สมองอย่างต่อเนื่อง และเป็นการท้าทายศักยภาพของตัวเองได้ทางหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้รับมือกับโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น โภชนาการที่สมดุล การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ และการไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่
ก่อนหน้านี้ สมาคมอัลไซเมอร์สหราชอาณาจักรเพิ่งเปิดตัวเกมพัฒนาสมองในรูปแบบแอปพลิเคชัน ที่ชื่อว่า GameChanger ซึ่งจะช่วยระบุตัวผู้ที่มีอาการเริ่มแรกของโรคสมองเสื่อมได้ ตลอดจนช่วยเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้ศึกษางานวิจัย หรือเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาวิธีการรักษาโรคได้ในอนาคตต่อไป