การแข่งขันฟุตบอลโลกกำลังเป็นกระแสและอยู่ในความสนใจของหลายคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะล่าสุด สื่อดังจากฮ่องกงออกมาเปิดเผยสถิติการหามแฟนบอลส่งโรงพยาบาลจากอาการหัวใจวาย
สำนักข่าว เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ ออกมาเปิดเผยสถิติว่า ช่วงฟุตบอลโลก 2002 โรงพยาบาล ควีน แมรี ในฮ่องกง มีผู้ป่วยหัวใจวาย 22 คน สูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีถัดมา ที่มี 15 คน และปี 2004 ที่มี 11 คน ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ที่ว่า การรับชมการแข่งขันอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
เดวิด เซียวซ่งหัว ศาสตราจารย์ด้านหทัยวิทยา จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า แม้จะยังไม่มีผลการศึกษาอย่างเป็นทางการว่าการแข่งขันฟุตบอลส่งผลกระทบต่อสุขภาพชาวฮ่องกงอย่างไร แต่ที่ผ่านมาก็มีการศึกษามาแล้วว่า เหตุการณ์ฉับพลันต่าง ๆ เช่น แผ่นดินไหว สามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ที่มีปัญหาด้านหัวใจเกิดหัวใจวายขึ้นมาได้
โดยงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ นิวอิงแลนด์ เมื่อปี 2008 ระบุว่า ในช่วงฟุตบอลโลก 2006 ที่อิตาลีเป็นแชมป์ ชายชาวเยอรมันมีความเสี่ยงจะหัวใจวายเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติ 2.66 เท่า โดยมีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลในเมืองมิวนิกด้วยอาการดังกล่าวมากถึง 4,279 คน และค่าเฉลี่ยสูงสุดของการเกิดหัวใจวายเกิดขึ้นในช่วง 2 ชั่วโมง หลังคิกออฟ ซึ่งก็คือตลอดแมตช์การแข่งขัน 2 ครึ่ง บวกเวลาพักครึ่ง นั่นเอง
เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ แนะนำว่าแฟนฟุตบอลที่รับชมการแข่งขันต่อเนื่องควรลดปริมาณการสูบบุหรี่ลง หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ และลดเครื่องดื่มน้ำตาลสูง หลีกเลี่ยงอาหารโซเดียมสูงและจังก์ฟู้ด นอกจากนี้ ยังควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน