หลังจากข่าวการฆ่าตัวตายของ เคต สเปด และแอนโทนี บอร์เดน สื่อทั่วโลกก็หันมาสนใจสถิติเรื่องนี้มากขึ้น มีรายงานว่าอัตราการฆ่าตัวตายในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากยุคก่อนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ โดยเหตุจูงใจหลัก ได้แก่ ปืน ยาเสพติด และความยากจน
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC เปิดเผยว่า อัตราการฆ่าตัวตายในสหรัฐฯ ใน 25 รัฐ หรือครึ่งประเทศ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 1999 ถึง 2016 มากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และอัตราฆ่าตัวตายโดยรวมเพิ่มขึ้นใน 49 รัฐ โดยมีสาเหตุที่กระตุ้นให้ก่อเหตุ คือ ปืน โอปิออยด์ หรือสารสกัดจากฝิ่น และความยากจน ขณะที่ มีรัฐเนวาดาเพียงรัฐเดียวที่มีอัตราการฆ่าตัวตายลดลง แต่ก็ลดลงเพียง 1 เปอร์เซ็นต์
สถิติปี 2016 ชี้ว่า สหรัฐฯ มีจำนวนคนฆ่าตัวตายราว 45,000 คน คิดเป็นกว่า 2 เท่า ของจำนวนผู้เสียชีวิตโดยเหตุฆาตกรรม ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายใน 27 รัฐ พบว่าเกินครึ่งหนึ่งไม่เคยมีประวัติสุขภาพจิตบกพร่องมาก่อน
ทั้งนี้ ช่วงที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วสอดคล้องกับข้อมูลในปี 2008 ที่เกิดปัญหาการเงินขึ้นทั่วโลก ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งต้องตกงาน สูญเสียบ้านและทรัพย์สิน ขณะที่ โอปิออยด์ ก็เป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์กดประสาทที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ เนื่องจากใช้เป็นยารักษาโรคทั่วไป ซึ่งการนำมาใช้ผิดวิธีเพิ่มอัตราการอยากฆ่าตัวตายได้ 40 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ โดยวิธีฆ่าตัวตายอันดับ 1 ก็คือ อาวุธปืน ที่เข้าถึงได้ง่ายในหลายรัฐ