ในปีที่อากาศร้อนและแปรปรวนอย่างในปีนี้ ผลวิจัยในสหรัฐฯ ล่าสุดชี้ว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่าโลกร้อน และแม้แต่ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ซึ่งเชื่อในหลักการว่าโลกร้อนไม่มีจริง ก็มีกว่าครึ่งที่เริ่มหันมาเชื่อเรื่องโลกร้อนแล้ว
ผลสำรวจล่าสุดของมหาวิทยาลัยมอนมัท (Monmouth University) ที่จัดทำเมื่อวันที่ 9 - 12 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ระบุว่า ชาวอเมริกัน 8 ใน 10 คน เชื่อว่าสภาพอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงและแปรปรวน อย่างหนัก และ 54% ของผู้ตอบแบบสำรวจ คิดว่าปัญหาสภาพอากาศเป็นเรื่องร้ายแรง ขณะที่ รีพับลิกันถึง 2 ใน 3 ก็เชื่อว่าสภาพอากาศโลกกำลังแปรปรวนเช่นกัน เท่ากับว่าคนกลุ่มนี้เชื่อว่าปัญหาโลกร้อนมีอยู่จริง ขัดกับหลักการที่รีพับลิกันนำเสนอมาตลอด
ด้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงยืนยันว่า 'โลกร้อน' เป็นเรื่องหลอกลวง และมองข้ามงานวิจัยจาก 13 หน่วยงานรัฐบาล และคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์อีกกว่า 300 คน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมอนมัท ไม่ได้เพิ่งทำสำรวจในปีนี้ โดยเมื่อปี 2015 รายงานในลักษณะเดียวกันนี้ชี้ว่า สมาชิกพรรครีพับลิกัน ซึ่งก็คือพรรคที่นายทรัมป์สังกัด เคยเชื่อว่าโลกร้อนมีอยู่จริง 49% หรือไม่ถึงครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด แต่ปัจจุบันตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 64% ขณะที่ พรรคเดโมแครตและกลุ่มอิสระทางการเมืองก็เชื่อเรื่องโลกร้อนเพิ่มขึ้น โดยเดโมแครต 92% เชื่อเรื่องนี้ และ 82% ระบุว่าเป็นปัญหารุนแรง เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจ 3 ปีก่อน 19%
ล่าสุด องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาจากประเทศสมาชิก 191 ประเทศ ออกมาระบุว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เป็นปีที่มีอากาศร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา นับตั้งแต่ปี 1850 และปีที่ร้อนที่สุด 20 ปี ล้วนแต่อยู่ในช่วง 22 ปีที่ผ่านมาทั้งสิ้น โดยที่ปี 2015 และ 2016 มีการเกิดเอลนีโญ่ หรือ การเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกที่อุ่นขึ้นผิดปกติมากที่สุด
ทั้งนี้ ข้อมูล 5 ชุด จากหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกันทั่วโลกชี้ว่า เทรนด์การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเริ่มขึ้นในช่วงศตวรรษนี้ โดยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในไม่กี่ทศวรรษให้หลัง ซึ่งในปีนี้ ช่วงเดือนมกราคม ถึง ตุลาคม อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 0.98 องศาเซลเซียส เกินกว่าการเพิ่มขึ้นในช่วงปี 1850 ถึง 1900 หรือก็คือช่วงก่อนมีการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจนสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
ขณะที่ ในช่วง 5 ปีมานี้ อุณหภูมิเพิ่มขึ้นแล้ว 1.04 องศาเซลเซียส จากอุณหภูมิเฉลี่ย เท่ากับว่าโลกเราเข้าใกล้เพดานอุณหภูมิที่ข้อตกลงปารีสตั้งไว้แล้ว (1.5 องศา) ถึงกว่า 2 ใน 3 ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ และจะส่งผลกระทบต่อประชากรโลก ทั้งในเรื่องสุขภาพ อาหาร ตลอดจนการอยู่รอดของพืชและสัตว์
ในปี 2017 จำนวนประชากรโลกที่อดอยากพุ่งขึ้นเป็น 821 ล้านคนทั่วโลก หลังจากก่อนหน้านี้มีจำนวนลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะเอลนีโญ่เมื่อปี 2015 ถึง 2016 ที่ทำให้หลายพื้นที่แห้งแล้งผิดปกติ และการปลูกพืชเพื่อให้เป็นอาหารก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป โดยในแอฟริกาทวีปเดียว มีผู้อดอยากถึง 59 ล้านคน ใน 24 ประเทศ และ 39 ประเทศยังคงต้องการการช่วยเหลือด้านอาหาร
ขณะที่ ยุโรปก็เผชิญปัญหาใหญ่เช่นกัน และมีพืชผลทางเศรษฐกิจเสียหายมากมาย โดยในเยอรมนีสูญเสียไป 43% ของผลผลิตข้าวโพด และ 21% ของมันฝรั่ง รวมมูลค่าความเสียหายนับพันล้านยูโร ส่วนภูมิภาคอเมริกาใต้ก็มีความสูญเสียด้านการเกษตรเช่นกัน และจากตัวเลขในอาร์เจนตินาประเทศเดียวก็สูงถึง 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 130,000 ล้านบาทแล้ว
นอกจากนี้ ในปีนี้ซีกโลกเหนือจากทั้ง 4 แอ่งมหาสมุทร ยังพบการเกิดของพายุมากกว่าปกติด้วย โดยปกติจะพบราว 50 ลูก แต่ปัจจุบันตัวเลขของทั้งปีอยู่ที่ 70 ลูก กระทบอุตสาหกรรมการประมงและท่องเที่ยวอย่างมาก