รัสเซีย-สหรัฐฯ เตรียมจับมือสำรวจดาวศุกร์ โดยวางแผนจะส่งยานไปลงจอดบนพื้นผิวดาวครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี
สำนักข่าว RT รายงานอ้างอิงข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ระบุว่า รัสเซียและสหรัฐฯ เตรียมร่วมมือสำรวจสิ่งมีชีวิตในกลุ่มเมฆชั้นล่างที่ปกคลุมดาวศุกร์ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในระบบสุริยะ โดยคาดว่าชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์น่าจะมีแบคทีเรียหรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอาศัยอยู่ไม่ต่างจากโลก ซึ่งโครงการนี้ใช้ชื่อว่า Venera-D และแผนดังกล่าวน่าจะเป็นรูปเป็นร่าง จนกระทั่งสามารถเปิดตัวได้ตามแผนในปี 2026 หรือหลังจากนั้น
พื้นผิวของดาวศุกร์มีอุณหภูมิสูงถึง 465 องศาเซลเซียส และประกอบด้วยกรดซัลฟิวริกและส่วนประกอบของน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรใดสามารถลงจอดบนดาวศุกร์ได้กว่า 30 ปีมาแล้ว นับตั้งแต่ยาน Vega 2 ของสหภาพโซเวียตเคยลงจอดได้เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 1985 ซึ่งในโครงการนี้เป็นแผนพัฒนาของรัสเซียประเทศเดียวมาร่วม 20 ปี จนกระทั่ง องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ของสหรัฐฯ เข้าร่วมในปี 2015 จนเกิดเป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่าง 2 ประเทศขึ้น
ลุดมิลา ซาโซวา ประธานร่วมโครงการ Venera-D เปิดเผยว่า นอกเหนือจากยานที่จะลงจอดบนพื้นผิวดาวศุกร์แล้ว โครงการนี้ยังจะต้องมียานขนส่งอวกาศ สถานีบนพื้นผิวดาว และสถานีเหนือพื้นผิวดาวด้วย โดยเธอเชื่อว่า แม้ดาวศุกร์จะมีอุณหภูมิที่สูงมาก แต่ก็มีชั้นบรรยากาศที่ค่อนข้างเอื้อต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต และน่าจะเป็นการเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านอวกาศอย่างยิ่ง