นาซาเตรียมส่งยานอวกาศขึ้นสำรวจดวงอาทิตย์ในระยะใกล้พื้นผิวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในวันที่ 11 สิงหาคมนี้
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา ของสหรัฐฯ เตรียมส่งยาน ‘พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ (Parker Solar Probe)’ เพื่อศึกษาพื้นผิวด้านนอกของดวงอาทิตย์ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ยานอวกาศจะได้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด โดยไม่ถูกทำลายไปเสียก่อน
สำหรับยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ ตั้งชื่อตามนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ยูจีน นิวแมน ปาร์กเกอร์ โดยยานมีขนาดเท่ากับรถยนต์คันเล็กและบังคับการด้วยหุ่นยนต์ มีกำหนดจะส่งขึ้นสู่อวกาศในวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคมนี้และจะปฏิบัติภารกิจนานเจ็ดปี เพื่อสำรวจบริเวณที่เรียกว่า ‘โคโรนา (corona)’ ซึ่งอยู่ถัดจากพื้นผิวของดวงอาทิตย์เข้ามาอีก 6.1 ล้านกิโลเมตร โดยถือเป็นการสำรวจที่เข้าใกล้พื้นผิวดวงอาทิตย์มากกว่ายานอวกาศลำอื่นถึงเจ็ดเท่าและอาจได้สัมผัสอนุภาคของดวงอาทิตย์อีกด้วย ซึ่งยานลำนี้ถูกออกแบบให้ทนความร้อนได้เป็นอย่างดี โดยจะควบคุมอุณหภูมิภายในยานไว้ที่ 29 องศาเซลเซียส แม้ว่าอุณหภูมิภายนอกจะขึ้นสูงถึง 1,370 องศาเซลเซียสก็ตาม
การปล่อยยานสำรวจดวงอาทิตย์ครั้งนี้ลงทุนไป 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 5 หมื่นล้านบาท โดยถือเป็นภารกิจแรกของโครงการ ‘ลิฟวิง วิธ อะ สตาร์ (Living With a Star)’ ของนาซา ที่หวังศึกษาพื้นผิวของดวงอาทิตย์เพื่อเรียนรู้การเกิดลมสุริยะ ซึ่งจะช่วยในการคาดการณ์สภาพอวกาศของโลก รวมถึงจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารต่อไป