จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญ นักฟุตบอลทีมหมูป่า 12 คนและโค้ชอาจต้องอยู่ในถ้ำหลวงกันต่ออีก 2 สัปดาห์ – 4 เดือน เนื่องจากยังไม่สามารถดำน้ำในถ้ำออกมาได้ เพราะต้องฝึกดำน้ำ และรอน้ำลด แม้ทีมกู้ภัยและทีมแพทย์จะนำผ้าห่มและเสบียงอาหารเข้าไปให้เด็กๆ แล้ว แต่การอยู่ในถ้ำแบบไม่เห็นเดือนเห็นตะวันก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายของพวกเขาไม่น้อย
บีบีซีรายงานว่า นอกจากผลกระทบด้านจิตใจที่เกิดจากการต้องติดอยู่ในถ้ำนานหลายวัน การไม่ได้เห็นแสงอาทิตย์จะทำให้การรับรู้เรื่องเวลาเปลี่ยนไป ซึ่งอาจนำไปสู่อาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ และอาจเกิดความขัดแย้งกันระหว่างเด็กๆ เองด้วย
เมื่อปี 1962 มิเชล ซิฟฟร์ นักธรณีวิทยาชาวฝรั่งเศสเคยทำการทดลองด้วยการไปอยู่ในธารน้ำแข็งใต้ดินเป็นเวลา 2 เดือนโดยไม่มีนาฬิกา ปฏิทิน ไม่เห็นแสงอาทิตย์ และไม่มีใครไปเยี่ยม แล้วเก็บข้อมูลพฤติกรรมการตื่นและนอน เมื่อครบ 2 เดือนแล้ว ทีมงานได้บอกเขาว่าครบกำหนดแล้ว แต่ซิฟฟร์ไม่เชื่อ เนื่องจากรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเพียง 1 เดือนเท่านั้น เพราะการรับรู้เรื่องเวลาของเขาบิดเบือนไปจากความเป็นจริง เพราะอยู่ในความมืดเป็นเวลานาน
การทดลองนี้ยังพบว่า แม้จะใช้เวลา 1 ใน 3 ของวันไปกับการนอนเหมือนเวลาที่อยู่บนดิน แต่วงจรการตื่นและหลับไม่ได้มีระยะเวลา 24 ชั่วโมงเหมือนปกติ แต่กลับยาวขึ้นเป็น 24 ชั่วโมง 30 นาที หรือบางคนอาจยาวนานเกือบ 25 ชั่วโมง เพราะร่างกายพึ่งพานาฬิกาชีวิตภายในร่างกายของตัวเอง แทนการเช็ตนาฬิกาชีวิตให้สอดคล้องกับเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตก ซึ่งอาการนี้ก็เกิดขึ้นกับคนที่ตาบอดสนิทเช่นกัน
วงจรการตื่นและหลับที่ยาวนานขึ้นกว่าเวลาโลก ทำให้ในวันแรกที่ออกจากถ้ำอาจตื่นตอน 8 โมง และวันถัดมาก็ตื่นสายกว่าเดิมประมาณครึ่งชั่วโมง เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ร่างกายอาจคิดว่าเวลานั้นเป็นเวลา 20.00 น. ทั้งที่ความเป็นจริงคือ 8.00 น. ซึ่งภาษาทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า non-24-hour sleep wake disorder ซึ่งเมื่อนาฬิการ่างกายไม่ตรงกับเวลาโลกก็จะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ แต่รู้สึกง่วงเวลาตื่น เหมือนกับมีอาการเจ็ตแล็กทุกวัน
ตามปกติแล้ว วงจรชีวิตของเราจะถูกกำหนดโดยส่วนเล็กของเนื้อเนื่อสมองที่เรียกว่า ซูพราเคียสมาติก นิวเคลียส (SCN) ที่อยู่ลึกลงไปประมาณ 2 เซนติเมตรระหว่างคิ้ว เมื่อเซลล์รับแสงหลังจอตาได้รับแสงแล้วมันจะส่งสัญญาณไปยัง SCN ไม่ว่านาฬิกาชีวิตภายในร่างกายของเราจะเดินช้าหรือเร็วกว่า 24 ชั่วโมง เมื่อเห็นแสงอาทิตย์แล้ว SCN ก็จะรีเซ็ตนาฬิกาชีวิตให้สอดคล้องกับเวลากลางวันกลางคืนของโลกภายนอก ดังนั้น เมื่อเราติดอยู่ในถ้ำ ติดอยู่ใต้ดิน หรือเกิดอุบัติเหตุสูญเสียตาไป ตาของเราไม่ได้รับแสง สมองก็ไม่ถูกรีเซ็ตเวลาใหม่ ทำให้ร่างกายต้องพึ่งพานาฬิกาภายในร่างกายของตัวเอง
อุปสรรคอีกข้อที่ทีมหมูป่าอาจกำลังเผชิญอยู่ก็คือ การที่นาฬิกาภายในร่างกายของแต่ละคนอาจเดินช้าเร็วไม่ตรงกัน ทำให้เวลาหลับและตื่นแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป การอยู่ในพื้นที่จำกัดด้วยกันก็อาจทำให้เกิดปัญหาการรบกวนเวลานอนของกันและกัน เพราะในขณะที่บางคนกำลังง่วง บางคนอาจกำลังตื่นอย่างเต็มตา
ทั้งนี้ นาฬิกาชีวิตก็มีความเกี่ยวข้องกับร่างกายส่วนอื่นๆนอกเหนือจากการหลับและตื่นด้วย หากนาฬิกาชีวิตของพวกเขาเริ่มสับสน วงจรการตื่นและหลับที่เปลี่ยนไปอาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้า เมตาบอลิซึมแปรปรวน ฮอร์โมนแปรปรวน และขาดสมาธิได้
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์คนงานเหมืองทองแดง 33 คนติดในเหมืองที่ชิลี 69 วันเมื่อปี 2010 ก็มีความพยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการจัดแสงไฟฟ้าให้สว่างพอจะทดแทนแสงอาทิตย์ได้ และจัดให้วงจรของแสงเหมือนกับแสงธรรมชาติตามเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตก เพื่อให้สมองปรับเวลาชีวิตให้ตรงกับเวลาโลก
ขณะที่วารสารวิทยาศาสตร์ 'นิวไซเอนทิสต์' ระบุว่า การปรับนาฬิกาในร่างกายอาจทำได้อีกอย่างด้วยการกินอาหารให้เป็นเวลา เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพและสมองค่อยๆ ปรับเวลาชีวิตให้ตรงกับวงจรปกติ
ที่มา: BBC/ New Scientists
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: