หลังปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย บรรดานักดำน้ำจากต่างประเทศเริ่มให้สัมภาษณ์ และหลายคนพูดตรงกันว่าเป็นการทำงานที่ยากและเสี่ยงที่สุด ทำให้หายใจไม่ทั่วท้อง พวกเขาต่างวิตกว่าจะล้มเหลว ทั้งยังสงสัยว่าทีมหมูป่าจะมีชีวิตรอดออกมา หรือว่าจะรอดได้ทั้งหมดหรือไม่ ปฏิบัติการหนนี้หมายถึงการพาคน 13 คนที่ว่ายน้ำไม่เป็นออกจากเส้นทางใต้น้ำที่ขุ่น วกวนและแคบ ในสภาพที่มืดและขาดอากาศ แต่พวกเขาไม่มีทางเลือก
“เด็กคนแรกคงออกมาได้แน่ แต่จะรอดหรือเปล่าอันนั้นไม่รู้” วอชิงตันโพสต์อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่จากกองทัพอากาศอเมริกันที่อยู่ในทีมงาน
วอชิงตันโพสต์สรุปภาพการช่วยเหลือตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายว่ามีปัญหาสารพัดอย่าง การทำงานในถ้ำต้องทำงานภายในสภาพอันมืดมิดไม่รู้เวลา หลายคนไม่ได้นอน การสื่อสารในถ้ำเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้วิธีเขียน และบางทีติดต่อกันไม่ได้หลายชั่วโมง จนกระทั่ง 'อาซาฟ ซเมียร์ลี' จากอิสราเอลนำเครื่องมือสื่อสารที่สามารถติดต่อได้ในถ้ำมาช่วย และเจ้าหน้าที่ไทย รวมทั้งอาสาสมัครทำงานอย่างหนักเพื่อสูบน้ำออกจากถ้ำ
แม้จะเอาชนะอุปสรรคเรื่องน้ำ เรื่องการสื่อสารได้ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะหาตัวเด็กได้อย่างไร จนกระทั่งพวกเขาได้พบกับนักดำน้ำอังกฤษ เวอร์นอน หรือ 'เวิร์น' อันสเวิร์ธ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการประกันภัยที่มีงานอดิเรกในการสำรวจถ้ำ และเขาบินไปบินมาระหว่างอังกฤษและภาคเหนือของไทยเพื่อสำรวจถ้ำหลวงมาแล้วในช่วงเวลาร่วมสิบปีมานี้ อันสเวิร์ธเชื่อว่า เขารู้ว่าจะตามหาเด็กได้อย่างไร เขาติดต่อทางการไทยและให้ชื่อนักดำน้ำอังกฤษอีกสามคนที่เขาบอกว่าดีที่สุดของโลก พร้อมกับบอกให้ทางการไทยติดต่อคนเหล่านั้น ซึ่งทางการไทยก็ดำเนินการทันที นักดำน้ำกลุ่มนี้ยังติดต่อคนอีกหลายคนเพื่อขอความช่วยเหลือ
พวกเขาพบเด็กเมื่อวันที่ 2 ก.ค. เมื่อนักดำน้ำอังกฤษอีกสองคน คือ ริค สแตนตัน อดีตพนักงานดับเพลิง กับ จอห์น โวลันเธน ที่ปรึกษาด้านงานไอที ใช้แผนที่ใต้น้ำของอันสเวิร์ธดำไปถึงห้องโถงที่ลึกเข้าไปจากปากถ้ำกว่า 4 กม. และพบเด็กๆ กับโค้ช พวกเขาติดอยู่บนพื้นที่แคบๆ เหนือน้ำ ได้น้ำที่หยดลงมาจากหินประทังความกระหาย
หนังสือพิมพ์บอกว่าโค้ชสอนเด็กๆ ให้นั่งสมาธิเพื่อให้ใจสงบ หลังจากนั้นทีมค้นหาก็กลายสภาพเป็นทีมช่วยเหลือซึ่งคนทั่วโลกติดตามอย่างใกล้ชิด นักข่าวกว่า 1,500 คนไปติดตามการทำงาน และมีผู้ให้ข้อเสนอแนะมากมายจากทุกแห่ง
ในขั้นต้นทีมช่วยเหลือพยายามจะไม่นำเด็กออกมาในขณะที่มีน้ำ เพราะมันเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าการปล่อยเด็กๆ ไว้ในถ้ำต่อไปก็เป็นไปไม่ได้ เพราะหลังจากตรวจสอบพบว่าระดับออกซิเจนลดลงเรื่อยๆ ในช่วงหนึ่งถึงร้อยละ 15 และหากออกซิเจนลดลงถึงร้อยละ 12 เมื่อไหร่ พวกเขาจะเข้าสู่อาการโคม่าได้ ในขณะที่อีกด้านการที่อยู่ในสถานที่อับชื้น อาจทำให้เกิดอาการติดเชื้อและสภาพของทั้งทีมจะย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ส่วนแผนที่จะเจาะผนังถ้ำจากด้านบนลงไปสู่จุดที่พวกเขาอยู่ก็ดูจะไม่ได้ผล เพราะยากที่จะหาจุดที่จะลงมือเจาะให้ชัดเจนได้
“มันเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร” พล.ร.ต.อาภากรณ์ อยู่คงแก้ว ผ.บ.หน่วยซีลว่า
ในถ้ำมีคนเข้าช่วยเหลือจำนวนมาก แต่คนยิ่งมากอากาศยิ่งน้อยลง ในระหว่างนั้น จ.อ.สมาน กุนัน หน่วยซีลนอกราชการ เสียชีวิตลงเพราะออกซิเจนหมดในระหว่างดำน้ำ ทางเลือกหลายอย่างไม่ได้ผล วันที่ 6 ก.ค. 'ชาร์ลส์ ฮอดจ์' หัวหน้าทีมเจ้าหน้าที่อเมริกันที่ไปช่วยกับเจ้าหน้าที่หน่วยซีลของไทยหารือกับตัวแทนทางการหลายฝ่าย วอชิงตันโพสต์รายงานว่า พวกเขาระบุว่าต้องรีบเร่งช่วยเหลือและแม้ว่าจะไม่รอดหมดทุกคนแต่ก็ดีกว่าปล่อยให้ตายทั้งหมด ปฏิบัติการช่วยชีวิตเริ่มขึ้น ทั้งๆ ที่แทบทุกคนที่ให้สัมภาษณ์ดูจะมีความวิตก
คลอส ราสมูเซน นักดำน้ำชาวเดนมาร์ก ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ช่วยบอกเดอะการ์เดียนว่า แม้จะมีการวางแผนกันอย่างละเอียด แต่เพราะความยากทำให้ในขณะที่ดำเนินการนั้นพวกเขาแทบไม่มีความแน่ใจว่าจะได้ผล
เมื่อพยากรณ์อากาศระบุว่าจะมีฝนตกในเช้าวันที่ 7 ก.ค. แต่เมื่อฝนไม่ตก ทีมงานตัดสินทันทีว่าโอกาสของพวกเขามาถึงแล้ว แต่ภายในถ้ำ เรืองฤทธิ์ ช้างขวัญยืน ผู้ประสานงานทีมช่วยเหลือบอกว่า พวกเด็กๆ ตื่นเต้นคุยกันว่าจะได้ดำน้ำ ขณะที่บรรดานักดำน้ำกลับเคร่งเครียด ตามแผนที่ตกลงกันซึ่งสรุปในเย็นวันที่ 5 ก.ค.นั้น พวกเขาตกลงจะให้มีนักดำน้ำสองคนช่วยกันนำตัวเด็กแต่ละคนออกมาโดยตามเชือกที่นำทางเอาไว้ แต่แล้วก็ยกเลิกแผนนั้นเปลี่ยนเป็นคนเดียวเนื่องจากพบว่ารุงรังและไม่มีประโยชน์ในสภาพที่ต้องดำน้ำในที่แคบและมืด
เด็กๆ ได้รับยาคลายเครียด เพราะหากพวกเขาตื่นเต้นอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ ผ.บ.หน่วยซีลระบุว่าในระหว่างเดินทางออกมานั้น เด็กๆ บางคนก็ยังมีสติ แต่บางคนหลับ นพ.ริชาร์ด แฮริส แพทย์ออสเตรเลียที่เข้าร่วมในการช่วยเหลือระบุว่า เป็นเรื่องยากที่เด็กๆ ในทีมจะรอดออกมาได้หากไม่ได้ยา และ นพ.เครก ชาเลน เพื่อนร่วมทีมของแฮริสจากออสเตรเลียชี้ว่า หากเด็กๆ ตกใจ การช่วยเหลือจะทำไม่ได้ และพวกเขาอาจจะทำอะไรที่เป็นอันตรายต่อตัวเอง มีผลต่อชีวิตของตัวเองและชีวิตของคนที่ช่วยเหลือด้วย เขาบอกว่าเด็กๆ ในทีมหมูป่าได้รับยาทำให้ไม่รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
พวกเขาใช้วิธีผูกตัวเด็กๆ ไว้กับนักดำน้ำที่ช่วยนำทาง เจสัน มอลลินสัน นักดำน้ำอังกฤษหนึ่งในสี่คนที่ไปช่วยทีมงานบรรยายว่า เขารู้สึกว่าต้องรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวง ในระหว่างที่นำทางออกมาต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ไปกระทบกระทั่ง เช่นกระแทกก้อนหิน ซึ่งจะทำให้หน้ากากดำน้ำหลุดจากหน้าเด็กและไม่ได้รับออกซิเจน นักดำน้ำอังกฤษบอกสื่อว่าพวกเขากังวลอย่างหนักแต่พยายามเก็บความรู้สึก ก่อนจะเริ่มนำตัวเด็กออกจากถ้ำ ยังคงมีความรู้สึกว่าน่าจะไม่รอด
“ผมมองไปรอบๆ ถ้ำ ในหัวกลับมีเสียงบอกว่า นี่อาจจะเป็นหนสุดท้ายที่เราจะได้เห็นเด็กๆ พวกนี้”
ที่หาดพัทยาภายในถ้ำหลวง คลอส ราสมูเซน กับเพื่อนนักดำน้ำอีกสองคน รับทำหน้าที่จัดวางตัวเด็กๆ ใส่ในแปล ก่อนจะนำตัวลงน้ำ ปัญหาที่ทีมงานต้องระวังคือ การที่อยู่ในน้ำนานถึงสองชั่วโมง จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำจนเป็นอันตรายได้ และน้ำที่เย็นอยู่แล้วยังจะมีน้ำใหม่มาสมทบ พวกเขาจึงต้องทำงานกันอย่างรวดเร็ว
จากห้องโถง 3 ออกสู่ปากถ้ำ พวกเขามีทีมงานรอเพื่อช่วยดึงเด็กแต่ละคนออกจากน้ำ เมื่อคนปลายทางร้องว่า Fish on เป็นรหัสแปลว่ามาถึงแล้ว เมื่อพวกเขาดึงตัวเด็กออกพ้นน้ำ เจ้าหน้าที่อเมริกันเข้าไปตรวจสอบว่าพวกเขายังหายใจอยู่ นั่นเป็นนาทีที่ทำให้ผู้คนรอบตัวหายใจกันได้อย่างโล่งอก
การ์เดียนรายงานว่า หลังจากที่ เอกพล จันทะวงษ์ โค้ชของทีมและทีมงานช่วยเหลือคนสุดท้ายออกจากถ้ำได้ราวสามชั่วโมง อุปกรณ์ก็หยุดทำงาน เรืองฤทธิ์ระบุว่าท่อน้ำระเบิดและปั๊มน้ำหยุดทำงาน ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเรียกว่า 50 ซ.ม.ทุกๆ สิบนาที พวกเขาจึงต้องรีบวิ่งออกจากโถง 3 ไปหน้าถ้ำ
“มันเหมือนฉากในหนังที่ทุกอย่างกำลังพังลง”
เขาบอกว่ามันเหมือนกับถ้ำกำลังบอกพวกเขาว่าถึงเวลาที่จะออกไปได้แล้ว ส่วนราสมูเซนซึ่งน่าจะไม่ได้คิดในเรื่องเหนือธรรมชาติก็เห็นด้วยว่า การที่ทุกอย่างพังลงหลังจากที่ปฏิบัติการช่วยเหลือเสร็จสิ้นนับเป็นเรื่องแปลกพอใช้ การ์เดียนรายงานว่า บรรดาอุปกรณ์เครื่องใช้ที่นักดำน้ำและทีมงานนำไปช่วยยังคงตกค้างอยู่ภายใน นักดำน้ำคงจะต้องกลับมาเอาในอีกห้าเดือนข้างหน้า
นพ.แฮริสได้โพสต์ในโซเชียลมีเดียหลังจากที่เขากลับออกจากประเทศไทยว่า เพิ่งจะมีโอกาสได้ทบทวนสิ่งที่ทำกันไป เขาแสดงความชื่นชมนักดำน้ำหลายคน ทั้งที่ได้ช่วยวางพื้นฐานให้กับปฏิบัติการ รวมทั้งการสนับสนุนของนานาชาติและการดำเนินงานของไทยโดยเฉพาะในความพยายามลดระดับน้ำ แฮริสบอกว่าที่เขาได้เห็นความพยายามของกลุ่มคนที่ต่อสู้กับธรรมชาติช่วงฤดูมรสุมชนิดที่เขาไม่เคยพบมาก่อน เขาเตือนใจว่าทุกคนมีความสำคัญพอกันในการทำงานหนนั้น
ในขณะที่หลายฝ่าย ทั้งทีมหมูป่าและเพื่อนร่วมภารกิจต่างไว้อาลัย จ.อ.สมาน กุนัน ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็น น.ต. อีกด้านเดอะซัน นสพ.อังกฤษรายงานว่า คริส จีเวล จากซัมเมอร์เซ็ต หนึ่งในสี่นักดำน้ำอังกฤษที่ช่วยเหลือในภารกิจหนนี้ก็เกือบเอาชีวิตไม่รอดเช่นกัน เขาเล่าว่าในระหว่างที่ช่วยนำทางเด็กคนหนึ่งออกมา เขาหลุดออกจากเชือกนำทางในน้ำและต้องลอยตัวควานหาเชือกอยู่ร่วม 4 นาที แต่ในที่สุดก็ควานไปพบสายไฟและได้กลับไปสู่โถงที่เพิ่งจากมาได้ ถ้าหาเชือกไม่พบ ผลที่ออกมาคงจะไม่ดีนัก เขาว่า
ขณะที่อีกด้าน การตอบโต้กันในเรื่องความพยายามของ 'อีลอน มัสก์' ผู้บริหารสเปซเอ็กซ์และเทสลา ยังดำเนินต่อไป หลังจากที่นักดำน้ำอังกฤษ คือ อันสเวิร์ธ ให้ข่าวว่า เรือดำน้ำจิ๋วจากฝีมือการประดิษฐ์คิดค้นของอีลอน มัสก์และทีมงานของเขานั้นไม่เหมาะกับปฏิบัติการที่ถ้ำหลวง และว่ามันเป็นเพียงการสร้างข่าว มัสก์ได้ออกมาทวีตตอบโต้โดยเรียกอันสเวิร์ธว่า 'pedo' คือ 'pedophile' ซึ่งหมายถึงคนที่ละเมิดทางเพศเด็ก แต่หลังจากที่ถูกวิจารณ์เขาก็ลบข้อความดังกล่าว ซีเอ็นเอ็นรายงานว่าเขาไม่มีข้อมูลสนับสนุนในเรื่องนี้และไม่มีข้อมูลใดๆ บ่งชี้ว่าจะเป็นเรื่องจริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: