ไม่พบผลการค้นหา
'วอยซ์ ออนไลน์' ชวนทำความรู้จักอาชีพนักดำน้ำกู้ชีพและนักดำน้ำสำรวจถ้ำที่เป็นทีมช่วยเหลือเฉพาะกาลสำหรับการค้นหาผู้ประสบภัยในถ้ำ ทำไมหลายประเทศถึงมี และนักดำน้ำกู้ชีพต่างจากนักดำน้ำธรรมดาอย่างไร

หลังจากที่มีการตามหาและระดมผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศที่ช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งใช้ระยะเวลานานถึง 9 วัน โดยปฏิบัติการค้นหานี้ถูกพบโดย 'ริชาร์ด วิลเลียม สแตนตัน' และ 'จอห์น โวเลนเธน' นักดำน้ำอาชีพจากองค์กรช่วยเหลือผู้ประสบภัยติดถ้ำจากอังกฤษ หรือ Derbyshire Cave Reacue Organisation ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ช่วยค้นหาและกู้ภัยพิบัติต่างๆ ทั้งคู่ผ่านประสบการณ์การทำงานกู้ภัยภายในถ้ำมาอย่างโชกโชน รวมไปถึงทักษะการช่วยเหลือชีวิตต่างๆ ที่ทั้งคู่ถูกฝึกมาเป็นอย่างดี

ก่อนหน้าที่ทั้งคู่จะมาเข้าร่วมปฏิบัติการณ์ช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีในครั้งนี้ ทั้งคู่เคยได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติจากรอยัล ฮิวแมน โซไซตี้ของอังกฤษหลังจากที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากการติดถ้ำ 8 วันในฝรั่งเศส ซึ่งนับว่าทั้งคู่เป็นนักดำน้ำกู้ภัยอาชีพอันดับต้นๆ ของโลกในตอนนี้


จะเป็นนักดำน้ำกู้ชีพและสำรวจถ้ำต้องทำอย่างไร

แม้จะมีใบประกาศนียบัตรที่สอบผ่านการดำน้ำลึก แต่นั้นยังไม่เพียงพอที่จะเข้ารับการฝึกฝนให้เป็นนักดำน้ำสำรวจถ้ำ การฝึกฝนการเป็นนักดำน้ำสำรวจถ้ำนี้ อย่างแรกต้องได้รับการฝึกอบรมในระดับ Advanced Open Water หรือ ต้องได้รับประกาศนียบัตรการดำน้ำในพื้นที่จำกัดที่มีความลึกมากกว่า 40 เมตรก่อน รวมไปถึงการสั่งสมประสบการณ์การดำน้ำที่มากพอและการอบรมการสื่อสารในพื้นที่ที่มีแสงสว่างน้อย หรือในพื้นที่มืด

การฝึกดำน้ำเพื่อสำรวจถ้ำเฉพาะนี้จะต้องฝึกทักษะการวิเคราะห์เส้นทาง การจัดการอากาศภายในถังออกซิเจนและในพื้นที่แคบ รวมไปถึงการจัดการพื้นที่ที่จำกัด รวมไปถึงการฝึกทางกายภาพในการขึ้นสูงผิวน้ำระหว่างการดำน้ำอีกด้วย

และสำหรับนักดำน้ำเพื่อกู้ชีพยังต้องได้รับการอบรมและฝึกฝนทักษะการกู้ชีพภายในถ้ำเพิ่มเติม โดยสามารถเข้ารับการฝึกอบรมได้ที่หน่วยงานที่การกู้ชีพเฉพาะด้านที่มีในประเทศต่างๆ 


ประเทศไหนบ้างที่มีการฝึกอบรมการดำน้ำสำหรับการกู้ชีพภายในถ้ำ

การท่องเที่ยวใต้น้ำรวมไปถึงการสำรวจใต้น้ำต่างๆ ที่แม้ว่านักดำน้ำหลายคนจะมีทักษะในการดำน้ำสำรวจถ้ำ แต่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้วยทักษะการดำน้ำอย่างเดียวไม่อาจเพียงพอต่อการเอาตัวรอด ดังนั้นในหลายประเทศจึงมีการจัดอบรมทักษะการกู้ชีพในสถานการณ์เฉพาะต่างๆ

เช่น ในอังกฤษ สมาคมเพื่อการกู้ชีพภายในถ้ำจะมีการจัดอบรมปฏิบัติการด้านการกู้ชีพสำหรับถ้ำโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันมีอาสาสมัครด้านการกู้ชีพเฉพาะด้านกว่า 1,000 คนที่มีทักษะความชำนาญที่แตกต่างกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ภายในถ้ำต่างๆ

ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา ก็มีหน่วยงานการกู้ชีพและการกู้ภัยใต้น้ำภายในถ้ำนานาชาติ ( IUCRR ) โดยจะมีศูนย์อบรมในแต่ละรัฐ เพื่อสนับสนุนหน่วยงานด้านความปลอดภัยสาธารณะในการช่วยเหลือเหยื่อที่ติดอยู่ใต้น้ำ หรือภายในถ้ำใต้น้ำโดยเฉพาะ โดยประชาชนสามารถอาสาเข้าไปเป็นอาสาสมัครเพื่อฝึกอบรมดังกล่าวได้

ที่มา the guardian / scubadiverlife