ไม่พบผลการค้นหา
ซีเอ็นเอ็นเผยแพร่บทความนักเขียนชาวอเมริกัน ระบุภารกิจช่วยทีมหมูป่า 'ก้าวข้าม' เรื่องเชื้อชาติ-ศาสนา-ค่านิยม กลายเป็นความร่วมมือที่ทุกฝ่ายต่างเสียสละอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย พร้อมยกย่อง 'จ่าแซม' สละชีวิตช่วยเด็ก

เจย์ แพรินี กวีและนักเขียนชาวอเมริกัน เผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น วันนี้ (9 ก.ค.) โดยระบุว่า ภารกิจช่วยเหลือสมาชิกทีมฟุตบอลเยาวชน หมูป่า อะคาเดมี แม่สาย ซึ่งติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้มองเห็นน้ำใจอันเป็นหนึ่งเดียวกันของผู้คน โดยเจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้อง และอาสาสมัครของไทยจากทุกสารทิศต่างเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือทีมหมูป่า

ขณะเดียวกัน คนทั่วโลกก็เฝ้าติดตามดูภารกิจครั้งนี้ด้วยใจจดจ่อ เป็นเพราะรู้สึกดีและตื้นตันที่ได้เห็นคนจำนวนมากจากหลากหลายเชื้อชาติร่วมกันปฏิบัติภารกิจ ทั้งจากอังกฤษ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ซึ่งบ่งชี้ว่าความร่วมมือครั้งนี้ 'ก้าวข้าม' เรื่องสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ หรือค่านิยมต่างๆ ไปแล้ว

นอกจากนี้ จ่าเอก สมาน กุนัน หรือ 'จ่าแซม' มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเด็ก ๆ ทีมหมูป่า จนเสียสละกระทั่งชีวิตของตัวเอง ถือเป็นความกล้าหาญของผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ ไม่เห็นแก่ตัวเอง จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่คนทั่วโลกจะเอาใจช่วยให้ภารกิจครั้งนี้ประสบความสำเร็จลุล่วง และหวังว่าเด็กๆ ทุกคนจะออกมาจากถ้ำได้อย่างปลอดภัย

AP-ถ้ำหลวง-ทีมหมูป่า-หน่วยซีล-ทหาร-เชียงรายAP-ทีมหมูป่า-ถ้ำหลวง-ติดถ้ำ-เชียงราย-กู้ชีพ

แพรินีเปรียบเทียบกรณีทีมหมูป่ากับเหตุการณ์ที่คนงานเหมืองในประเทศชิลีติดอยู่ในถ้ำใต้ดินนานกว่า 69 วันเมื่อปี 2553 ครั้งนั้นผู้คนทั่วโลกต่างก็เอาใจช่วยให้ทั้งหมดรอดพ้นจากการติดอยู่ใต้ดินเช่นกัน ทั้งยังรู้สึกว่า การมีชีวิตอยู่รอดได้นานขนาดนั้นเป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง

แม้จะมีการแสดงความเห็นขัดแย้งกันในหมู่ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ อยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้คนเกิดความรู้สึกตื้นตัน เชื่อมโยง และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอบีซีนิวส์รายงานความคิดเห็นของนายแพทย์พอล เอาร์บาค ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ฉุกเฉินประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเมินว่าเด็กๆ ทีมหมูป่าจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดหลายวัน เพราะต้องประเมินทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ และการฟื้นฟูสมรรถภาพเรื่องกล้ามเนื้อ

นพ.เอาร์บาค ยังเตือนด้วยว่า เด็กๆ ทีมหมูป่าจะตกเป็นเป้าความสนใจจากสาธารณชน สื่อต่างๆ จะติดตามรายงานความเคลื่อนไหวของพวกเขาต่อไปอีกพักใหญ่ อาจทำให้เด็กเหล่านี้มีอาการตระหนกหรือฝันร้าย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังการนำเสนอข่าวเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเด็กในอนาคต และพวกเขาอาจต้องการเวลาในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์หลังออกจากถ้ำด้วย

ภาพ: AP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: