นายพีรภัทร มีแสง เจ้าหน้าที่ประจำโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวถึงแนวคิดในการเสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย โดยระบุว่า บรรดาประกาศคำสั่งดังกล่าว จำนวน 35 ฉบับที่ไอลอว์ยกตัวอย่าง เพื่อใช้รณรงค์เข้าชื่อเสนอกฎหมาย มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจพิเศษ ประชาชน ไม่มีส่วนร่วม และยังส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและกระบวนการประชาธิปไตยของประชาชน บรรดาประกาศคำสั่งมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจ รัฏฐาธิปัตย์โดยอ้างมาตรา 44 หรืออำนาจสูงสุด
จากคำสั่งกว่า 500 ฉบับ iLaw หยิบยกมา 35 ฉบับโดยแบ่งเป็น 4 หมวด
อย่างไรก็ดี ตัวแทน iLaw หวังว่าแนวคิดในการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ประชาชนตื่นตัวมากขึ้น และตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพ รวมถึงกระบวนการประชาธิปไตยที่พึงมี นอกจากนี้ การเสนอกฎหมายดังกล่าวยังเป็นการแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งที่มีผลในทางกฎหมายโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ซึ่งเป็นการปกครองประเทศด้วยการคิดเองทำเอง
ทั้งนี้ การเข้าชื่อเสนอกฎหมายดังกล่าวเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2561 ผ่านมาประมาณ 10 เดือนมีผู้เข้าร่วมลงชื่อเสนอกฎหมาย แล้ว 4,000 คน ต้องการได้อย่างน้อย 10,000 รายชื่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 หลังได้รายชื่อครบถ้วนตามกฎหมายแล้วจะเสนอให้รัฐบาลชุดถัดไปนำไปพิจารณา เพื่อเป็นวาระแรกในการเริ่มต้นทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ดังนั้น จึงเรียกร้องให้คสช. ยกเลิกประกาศคำสั่งต่างๆ โดยไม่ต้องรอภาคประชาชนผลักดันกฎหมาย เพราะหลายคำสั่งมีผลต่อการทำงานทางการเมือง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม การคงไว้ซึ่งประกาศคำสั่งในช่วงสถานการณ์เลือกตั้ง จะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ
ขณะเดียวกัน เห็นว่าสนช.ผ่านกฎหมายจำนวนมาก ไม่ได้หมายความถึงการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการออกกฎหมาย 200 ถึง 300 ฉบับโดยไม่มีเสียงคัดค้าน หรือกฎหมายเกือบทั้งหมดมาจากสภาที่ถูกแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจ จึงอาจไม่รอบคอบ ไม่รอบด้าน และไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนได้เช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม