ไม่พบผลการค้นหา
วาระแห่งชาติ เรื่อง 'สิทธิมนุษยชน' ยุค คสช.มันเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เมื่อคำสั่งและประกาศของ คสช. ยังถูกใช้ในการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนพึงได้รับ

ภายใต้การบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีการออกคำสั่งและกฎหมายที่ถูกมองว่าละเมิดสิทธิประชาชนและปิดกั้นเสรีภาพ ไม่น้อยกว่า 35 ฉบับ อาทิ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป คำสั่งทวงคืนผืนป่า 66/2557-67/2557 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560

จนนำไปสู่การล่ารายชื่อโดยกลุ่มภาคประชาชน 24 กลุ่ม เพื่อเสนอกฎหมายให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิของคนไทย

อย่างไรก็ดี เนื่องในวันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันแห่งการเข้าถึงข้อมูลสำหรับทุกคน (International Day for Universal Access to Information) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนคำนึงถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หากย้อนมองดูสิทธิของประชาชนในประเทศไทย ณ ขณะนี้ ยังถูกตรึงด้วยคำสั่งและประกาศของ คสช. กลายเป็นความย้อนแย้งของการประกาศให้เรื่อง 'สิทธิมนุษยชน' ที่รัฐบาลประกาศว่าเป็น 'วาระแห่งชาติ'

700_500_aW1hZ2UvMjAxOC0wNy9lZDAwZmM4YTU4ZmMyNjVlMjYzYjA0YzU0YWY4MmViYS5qcGc=.jpg

(เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร)

แน่นอนว่านับตั้งแต่การเข้ามาของ คสช. มีการรวมกลุ่มกัน เพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกคำสั่งและประกาศของคสช.มาโดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน ที่มีหน้าที่สื่อสารไปยังประชาชน

ทำให้ตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจพิเศษเหล่านั้นมีความจริงใจหรือปิดกั้นประชาชน 

 คุมตัวแกนนำส่องโกงราชภักดิ์

(นั่งรถไฟไปราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง)

ตัวอย่างเช่น กรณีกลุ่มนักกิจกรรม ร่วมกันจัดแคมเปญ “นั่งรถไฟไปราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” เมื่อ 7 ธ.ค. 2558 ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้นกลุ่มนักกิจกรรมได้ถูกตัดขบวนรถไฟ และไปไม่ถึงสถานที่ดังกล่าว หนำซ้ำยังถูกดำเนินคดี 11 คน ด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 'ฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป' 

เช่นเดียวกับการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและนักวิชาการที่จัดเวทีเสวนา จนนำไปสู่การออกมาเรียกร้องว่า 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' สะท้อนให้เห็นถึงการจำกัดสิทธิของประชาชนในการสื่อสารให้คนในสังคมได้ตระหนักรู้

"การปิดกั้นในการแสดงออกและมีเจ้าหน้าที่ทั้งนอกและในเครื่องแบบเข้าไปปะปนในงานเวทีเสวนาวิชาการและการจัดกิจกรรมของประชาชนเช่นที่ปรากฎมาตลอด 4 ปี ยังได้ส่งผลให้ภายในงานมีความอึดอัดและสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้เข้าร่วมงานและวิทยากร แล้วเช่นนี้คำว่าวาระแห่งชาติ เรื่อง 'สิทธิมนุษยชน' ภายใต้การบริหารยุค คสช.มันเกิดขึ้นจริงหรือไม่"

จดหมายตำรวจบุก FCCT

(จดหมายจากตำรวจ สน.ลุมพินี สั่งยกเลิกการเสวนาของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ)

ส่วนเหตุการณ์ล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา คือ กรณีที่ตำรวจ สน.ลุมพินี มีจดหมายให้สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ยกเลิกการจัดเสวนาหัวข้อ “นายพลเมียนมาจะถูกนำตัวเข้าสู่ระบบยุติธรรมจากการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศหรือไม่” โดยอ้างว่า การเสวนาดังกล่าวจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทาง FCCT และองค์กรกฎหมายระหว่างประเทศระบุว่า "การตัดสินใจของทางการไทยที่สั่งยกเลิกกิจกรรมนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความผิดหวังครั้งใหญ่ แต่ยังเป็นการสูญเสียโอกาสที่จะหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค เพื่อหาแนวทางที่น่าเชื่อถือและเป็นไปได้ในการจัดการเรื่องดังกล่าวด้วย"

อ่านเพิ่มเติม

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog