'เวียดนาม' เสี่ยงโรคอ้วนมากสุดในอาเซียน ขณะที่ รัฐบาลหลายประเทศ เผชิญปัญหาระบบสุขภาพและเงินทุนสำรองเพราะวิถีชีวิตของประชากรที่เปลี่ยนไป
ภาวะโรคอ้วนกำลังกลายเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้ว ยังสร้างปัญหาให้กับระบบสุขภาพและทุนสำรองของรัฐบาลเช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีตัวเลขประชากรที่อยู่ในภาวะโรคอ้วน หรือภาวะที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 25 เพิ่มสูงขึ้นไวที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยอัตราเพิ่ม 38 เปอร์เซ็นต์ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2014 ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่อัตรา 33 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ ปรากฏว่าเวียดนามยังมีสัดส่วนประชากรที่อยู่ในภาวะโรคอ้วนน้อยที่สุดเพียง 3.6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น ขณะที่ มาเลเซียมีสัดส่วนประชากรที่มีโรคอ้วนถึง 13.3 เปอร์เซ็นต์ และอินโดนีเซียอยู่ที่ 5.7 เปอร์เซ็นต์
จากรายงานของ 'ฟิตช์ โซลูชันส์' การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้นำมาซึ่งรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง ผู้คนหันไปเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณค่าน้อยลง นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดเสรีส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปรับลดต้นทุน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพวัตถุดิบ