งานวิจัยจากสหรัฐฯ เสนอว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งและโรคหัวใจ จากกลไกการทำลาย DNA ของสารพิษในควันบุหรี่
งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ในสหรัฐฯ ระบุว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำร้ายและยับยั้งการซ่อมแซม DNA ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และโรคหัวใจได้ เนื่องจากนิโคตินที่สูดเข้าไปสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นสารเคมีที่ตรงเข้าทำลาย DNA ในอวัยวะเหล่านี้ได้ โดยอ้างอิงจากการทดลองกับหนู อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อหาหลักฐานมาสนับสนุนข้อสรุปนี้ต่อไป
ระหว่างการทดลอง หนูทดลองได้รับควันพิษจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเวลาทั้งสิ้น 3 เดือนเต็ม ในปริมาณที่เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของคนเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งผลที่ได้ก็คือ DNA ในปอด กระเพาะปัสสาวะ และหัวใจของหนูถูกทำลาย ตลอดจนกลไกการซ่อมแซมตัวเองของ DNA ก็ผิดปกติ และทำลายโปรตีนในปอดด้วย
ขณะที่ กลุ่มวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งกลับออกมาคัดค้านข้อสรุปดังกล่าว และระบุว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตรายเท่ากับการสูบบุหรี่ปกติ เพราะยังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่เกินกว่าจะนำมากล่าวอ้างอย่างชัดเจนว่าจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
ปัจจุบัน มีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ราว 18 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนมัธยมปลาย 16 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ในประเทศไทยก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยถือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แต่ไม่สามารถเลิกสูบได้อย่างเด็ดขาด