นักวิจัยแคนาดาพบว่า การที่เด็กมี Screen Time หรือเวลาในการดูจอ ทั้งมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือโทรทัศน์มากเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน จะทำให้การพัฒนาทางการเรียนรู้ตกต่ำลง
เจเรมี วอลช์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยโรงพยาบาลเด็กอีสเทิร์น ออนแทริโอ ในแคนาดา ระบุว่ามีเด็กในสหรัฐฯ เพียง 1 ใน 20 คนเท่านั้น ที่นอน ออกกำลัง และมี Screen Time หรือระยะเวลาการดูจอที่เหมาะสมตามคำแนะนำ โดยมีเด็กเกือบ 1 ใน 3 ที่ทำทั้งสามกิจกรรมในปริมาณที่ไม่เหมาะสม และกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ทำกิจกรรมในปริมาณเหมาะสมแค่ 1 อย่าง เช่น นอนพอ แต่ออกกำลังน้อย และดูจอมาก ขณะที่ มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ที่ทำเหมาะสมทุกอย่าง นอกจากนี้ โดยเฉลี่ย เด็กอายุ 8 - 11 ปี ยังใช้เวลาดูจอถึง 3.6 ชั่วโมงต่อวัน เกินจากที่แนะนำให้ดูวันละ 2 ชั่วโมงถึงเกือบเท่าตัว
ทั้งนี้ วอลช์และทีมงานรวบรวมข้อมูลเด็ก 4,520 คนจากทั่วสหรัฐฯ โดยทดสอบการรับรู้ 6 อย่าง ประกอบกับข้อมูลรายได้ครัวเรือนของเด็กแต่ละคน และปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก แล้วนำมาเทียบกับคำแนะนำในประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศแรกที่เสนอให้มีการจำกัด Screen Time ของเด็ก
วอลช์ระบุว่า การดูจอนานเกินไป ประกอบกับการนอนที่น้อยกว่าปกติ ทำให้การพัฒนาทักษะการรับรู้ลดลง ทั้งการใช้ภาษา ความจำ และการทำกิจกรรมหนึ่ง ๆ จนเสร็จสิ้น เท่ากับว่าเด็กอาจพูดได้ช้า หรือมีภาวะสมาธิสั้นได้นั่นเอง งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Child & Adolescent Health