งานวิจัยจากสถาบันในนอร์เวย์พบว่า คนรุ่นใหม่มีคะแนนทดสอบไอคิวพื้นฐานลดลงจากคนรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่ผลทดสอบไอคิวไม่ได้หมายความถึง 'ความฉลาด' เสมอไป
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยทางเศรษฐกิจ แร็กนาร์ ฟริช (Ragnar Frisch Centre for Economic Research) ในกรุงออสโล ของนอร์เวย์ เปิดเผยข้อมูลจากการศึกษาล่าสุด ที่ระบุว่า ไอคิวของคนรุ่นใหม่โดยเฉลี่ย ปรับตัวลดลงจากประชากรรุ่นก่อน หรือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
นักวิทยาศาสตร์ประมวลผลการทดสอบไอคิวของผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นข้าราชการ 730,000 คน ที่เกิดในช่วงปี 1962 ถึง 1991 พบว่ากลุ่มคนที่ได้คะแนนสูงสุดคือกลุ่มที่เกิดในปี 1975 ส่วนกลุ่มปี 1991 ได้คะแนนต่ำที่สุด
ก่อนหน้านี้ เคยมีงานวิจัยที่เป็นที่รู้จักในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง ที่ระบุว่า ประชากรโลกที่เกิดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคะแนนการทดสอบไอคิวเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบแต่ละทศวรรษ ซึ่งผลการศึกษาล่าสุดชี้ว่าเทรนด์ดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้วในยุคนี้
สาเหตุของการปรับตัวลดลงของระดับไอคิวเช่นนี้ เกิดได้จากหลายปัจจัย รวมถึงวิธีการเลี้ยงดู ระบบการศึกษา และระดับการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย ซึ่งดอกเตอร์ โอเล โรเจอเบิร์ก ผู้นำทีมวิจัย ระบุว่าการมีไอคิวต่ำไม่ได้หมายถึงไม่ฉลาด เพราะบางทักษะของมนุษย์ก็ไม่สามารถวัดได้จากเกณฑ์ทดสอบไอคิวขั้นพื้นฐาน
ปัจจัยหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์สามารถตัดออกจากปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม หรือการกลายพันธุ์ของเซลล์สมอง เพราะทีมวิจัยได้ประมวลข้อมูลของทั้งครอบครัวกลุ่มตัวอย่าง เพื่อหาความเชื่อมโยงแล้วไม่พบตัวบ่งชี้ทางพันธุกรรมแต่อย่างใด