นักวิจัยจีนศึกษาพบว่า การรับประทานอาหารไร้กลูเตน ซึ่งเป็นเทรนด์ยอดนิยมทั่วโลกขณะนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานได้
นักวิจัยจากประเทศจีน เปิดเผยผลการศึกษาที่ระบุว่า การบริโภคอาหารไร้กลูเตนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน หลังเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่บริโภคกลูเตนในปริมาณน้อย คือ น้อยกว่า 4 กรัมต่อวัน พบว่ามี 13 เปอร์เซ็นต์ ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่บริโภคกลูเตน 12 กรัมต่อวัน
โดยกลูเตนเป็นโปรตีนที่พบได้ในผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ทำให้ขนมปัง พิซซา และพาสตามีรสสัมผัสนุ่มนวล น่ารับประทาน
จากสถิติชี้ว่า ปัจจุบันมีประชากรโลกราว 1 เปอร์เซ็นต์ ที่แพ้กลูเตน และเกิดความผิดปกติกับร่างกายเมื่อบริโภคเข้าไป ทำให้การรับประทานอาหารไร้กลูเตนเป็นเสมือนการปกป้องอาการป่วยดังกล่าว และเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะเดียวกัน อาหารไร้กลูเตนก็เป็นที่นิยมขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ในหมู่ผู้รักสุขภาพ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังจำนวนมากระบุว่า อาหารประเภทนี้ดีต่อการควบคุมน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหลายฉบับกลับชี้ว่า การบริโภคกลูเตนในปริมาณมาก คือราว 60 ถึง 100 กรัมต่อวัน ไม่ส่งผลใด ๆ ต่อคนปกติที่ร่างกายไม่แพ้กลูเตน โดยที่ยังพบว่าการบริโภคในระดับนี้สามารถลดลดไขมันในเลือดและความดันได้อีกด้วย
งานวิจัยฉบับนี้ นำโดย จง เกิง จากสถาบันวิทยาศาสตร์ชีวภาพเซี่ยงไฮ้ และตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์รายเดือน Diabetologia ซึ่งเป็นวารสารทางการของสมาคมการศึกษาโรคเบาหวานแห่งยุโรป ศึกษาจากชาวอเมริกัน 200,000 คน เป็นเวลา 22 ถึง 28 ปี โดยการทำสำรวจเป็นระยะ ๆ ทุก 2 ถึง 4 ปี