งานวิจัยล่าสุดชี้ว่า 'สกรีนไทม์' หรือ ระยะเวลาการดูจอ ของเด็กส่งผลต่อสายตา น้ำหนักตัว และนำไปสู่โรคร้ายแรงอย่างมะเร็งได้ในอนาคต
งานวิจัยจากกองทุนวิจัยมะเร็งโลก หรือ World Cancer Research Fund พบว่า การใช้สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และเกมคอนโซลของเด็กเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของโรคมะเร็งหลายชนิด ทั้งในทรวงอก ต่อมลูกหมาก ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน ตับ ไต และรังไข่ หลังรวบรวมข้อมูลจาก 80 งานวิจัย ที่มีกลุ่มตัวอย่างกว่า 200,000 คน
ขณะที่ อีกงานวิจัยโดย คิงส์ คอลเลจ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็พบว่าทุก ๆ 1 ชั่วโมงของการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ในแต่ละวัน เพิ่มความเสี่ยงสายตาสั้นลง 3% และในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีเด็กสายตาสั้นเพิ่มขึ้นจาก 7.2% เป็น 16.4% ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจาก 'สกรีนไทม์' ที่เพิ่มขึ้น ด้าน ดอกเตอร์ โมฮาเหม็ด ดิรานี จากศูนย์ดวงตาแห่งชาติสิงคโปร์ ก็มีความเห็นสอดคล้องกัน โดยระบุว่า สายตาสั้นจากสกรีนไทม์เป็นปัญหาระดับโลก และปัจจุบันก็มีวัยรุ่นเอเชียมากถึง 96% สายตาสั้น
ตัวแทนจากองค์กรวิจัยมะเร็งในสหราชอาณาจักร Cancer Research UK ระบุว่า งานวิจัยเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความตระหนักรู้ถึงสาเหตุของมะเร็ง เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันตัวเองได้ดีขึ้น โดยปกติ เด็กจะเสี่ยงเป็นโรคอ้วนมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 5 เท่า และนำไปสู่การเป็นมะเร็งได้ 13 ชนิด