นิวซีแลนด์ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามรอยสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร พร้อมลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคการเกษตร แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่มีมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน
นักวิชาการชี้ ทั่วโลกสามารถรักษาโลกนี้ไว้ได้ หากทุกประเทศร่วมใจกันจัดการกับปัญหาการสร้างมลพิษให้กับชั้นบรรยากาศโดยพร้อมเพรียง หลังจากที่ล่าสุด นิวซีแลนด์เสนอร่างกฎหมายแก้ปัญหาภูมิอากาศเข้าสู่สภา ซึ่ง จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวว่าร่างกฎหมายที่เสนอนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะมุ่งเป้าไปที่การลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซมีเทนชีวภาพ รวมถึงจะมีการตั้งคณะกรรมการดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยกฎหมายนี้มุ่งให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050
โดยหลักการแล้ว การปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ ไม่ได้หมายถึงการไม่ผลิตก๊าซคาร์บอนเลย แต่คือการลดปริมาณการปล่อยก๊าซ และกำจัดก๊าซคาร์บอนที่เกิดขึ้นเป็นการชดเชยเพื่อถัวกันให้ปริมาณการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์หรือติดลบ ซึ่ง เจมส์ ชอว์ รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนทางภูมิอากาศนิวซีแลนด์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้จะผ่านเป็นกฎหมายภายในสิ้นปีนี้ พร้อมระบุว่า นี่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทางรัฐบาลจะต้องทำทุกอย่างที่ทำได้ในช่วง 30 ปีนับจากนี้ เพื่อจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และร่างกฎหมายปลอดคาร์บอนนี้ก็เป็นการผูกพันเป้าหมายดังกล่าวด้วยกฎหมาย
นอกจากนั้น เขายังระบุว่า นอกจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ร่างกฎหมายนี้ยังมุ่งเป้าไปที่การลดก๊าซมีเทนจากภาคเกษตรกรรม โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซมีเทนชีวภาพลง 10 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2024 ขณะที่ เนื้อหาในหลายจุดได้รับการสนับสนุนจากพรรคอื่น ๆ ด้วย
แต่ด้วยความที่นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีภาคการเกษตรเป็นภาคธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด การมุ่งเป้าไปที่การลดก๊าซมีเทนในภาคการเกษตรจึงเป็นข้อถกเถียงในสภา ซึ่งทางพรรคแห่งชาติ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของนิวซีแลนด์ ชี้ว่าเป็นการตั้งเป้าสูงเกินไป และวางตัวเป็นนักสิ่งแวดล้อมมากเกินไปที่มุ่งเป้าให้ปริมาณการก่อก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ ส่วน แอนดรูว์ ฮอกการ์ด รองประธานสหพันธ์เกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่าเป้าหมายดังกล่าวไม่ต่างจากการให้เลิกเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า และทางเดียวที่จะลดการปล่อยก๊าซได้ขนาดนั้นคือการลดจำนวนการผลิตลง