ไทยกำลังกลายเป็นแหล่งเงินทุนยอดนิยมสำหรับนักเล่นพันธบัตรระดับโลก เนื่องจากค่าเงินผันผวนน้อยกว่าจีนหรือเกาหลีใต้ ถือเป็นการสะท้อนเทรนด์การนำเงินไปลงทุนในประเทศที่ตลาดกำลังเติบโต
แม้ว่าสถานการณ์การเมืองไทยจะยังไม่แน่นอนนัก และยังอยู่ใต้รัฐบาลทหาร รวมถึงได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน หรือเครดิตเรทติ้งเหนือระดับ "จังค์" เพียง 3 ระดับเท่านั้น แต่นักลงทุนก็ยังนำเงินเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อเทียบกันกับตลาดเงินในชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯและจีน พันธบัตรไทยให้ผลตอบแทนไม่ต่างกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมากนัก และเงินบาทไทยก็มีเสถียรภาพกว่าเงินหยวนที่ถูกควบคุมจากรัฐบาลจีน
เดือนกันยายนเพียงเดือนเดียว ผ่านไปเพียง 12 วัน ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดเงินไทยแล้ว 2,600 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 86,000 ล้านบาท มากกว่าเงินที่ไหลเข้าไปลงทุนในเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และอินเดียทั้งหมดรวมกัน แม้ว่าอินเดียและอินโดนีเซียจะเสนอพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าถึง 3 เท่า แต่เมื่อเทียบกับแล้ว บลูมเบิร์กประเมินว่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาค โดยเงินวอนของเกาหลีใต้ผันผวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ตามมาด้วยริงกิตมาเลเซีย รูเปียห์อินโดนีเซีย เปโซฟิลิปปินส์ รูปีอินเดีย ดอลลาร์ไต้หวัน และหยวนของจีนตามลำดับ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินบาทไทยมีเสถียรภาพมากที่สุด ทั้งที่สถานการณ์การเมืองและปัจจัยภายในอื่นๆไม่ได้มั่นคงมากนัก เป็นเพราะไทยอยู่ในสถานะที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียแปซิฟิก และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่ได้มีนโยบายเข้มงวดในการควบคุมค่าเงินบาทไม่ให้แข็งเกินไป แม้ว่าเงินบาทที่แข้งขึ้นถึง 8.5% ในปีนี้เมื่อเทียบกับดอลลาร์ จะทำให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบก็ตาม
ความนิยมที่มีต่อพันธบัตรไทยในตอนนี้ เห็นได้จากการที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยอยู่ที่ 2.25% ต่ำกว่าเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศที่มูดีส์จัดให้มีเครดิตดีกว่าไทยถึง 5 ระดับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนอัตราสัญญาสวอปการผิดนัดชำระหนี้ในระยะ 5 ปีของไทย ต่ำกว่าอัตราของสเปนเสียอีก และต่ำกว่าของอินโดนีเซียถึงครึ่งหนึ่ง
ที่น่าสนใจก็คือ ดูเหมือนว่านักลงทุนจะไม่ได้ใส่ใจนักในประเด็นที่ไทยปกครองด้วยรัฐบาลทหารมาตั้งแต่ปี 2014 และเกิดการรัฐประหารมาแล้วนับสิบครั้งตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 1932 หรือ 2475