ช่วงหลังๆนี้ คนไทยหันมาทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งช่องทางออนไลน์แม้จะช่วยพัฒนาระบบการเงินให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ก็ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปิดสาขาหลายแห่ง เพราะมีผู้มาใช้บริการน้อยลง ซึ่งธนาคารเหล่านี้ก็ต้องหันไปพัฒนาแอพพลิเคชันโมบายแบงกิงของตัวเองให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการ
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าในปี 2559 สถิติการใช้โมบายแบงกิงของชาวไทย ในการชำระเงิน สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดือนกรกฎาคม ที่มีผู้ใช้งานประมาณ 18.1 ล้านบัญชี ค่อยๆเพิ่มขึ้นทุกเดือนจนกลายเป็น 20.8 ล้านบัญชีในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ขณะที่อินเทอร์เน็ตแบงกิง ก็เพิ่มจาก 14.5 เป็น 15 ล้านบัญชีภายในเวลาเพียงครึ่งปี รวมเบ็ดเสร็จในปี 2559 มีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตและโมบายแบงกิง รวมกัน 35 ล้านบัญชี ถือเป็นตัวเลขที่น่าประทับใจ เมื่อเทียบกับปี 2553 ที่มีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิง เพียง 4.5 ล้านบัญชี และโมบายแบงกิง เพียง 5 แสนบัญชีเท่านั้น
ธนาคารไทยพาณิชย์เองก็มีแผนที่จะเปลี่ยนระบบจ่ายเงินออนไลน์ของตัวเอง มาเป็นแอพพลิเคชันไลฟ์สไตล์เพื่อให้เชื่อมต่อกับการใช้ชีวิตออนไลน์ด้านอื่นๆของลูกค้าแบบไม่มีสะดุด โดยไม่เพียงแต่มีการให้บริการด้านการทำธุรกรรมทางการเงินเท่านั้น แต่ต้องการให้เป็นเหมือนแอพพลิเคชันที่รวมบริการหลายๆอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งมีบริการที่ครอบคลุมทั้งการจองร้านอาหาร ซื้อตั๋วภาพยนตร์ ตั๋วคอนเสิร์ท
แอพพลิเคชันนี้ดูเหมือนจะมีต้นแบบเป็น แอปเปิลเพย์ ของแอปเปิล หรือ อาลีเพย์ ของอาลีบาบา แต่ก็มีเป้าหมายที่จะไปให้ได้ไกลกว่านั้น คาดว่าจะเปิดตัวได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และไทยพาณิชย์จะมีการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบฟินเทคนี้กว่า 4,000 ล้านบาท
นาย อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ บอกกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า เขาอยากเห็นแพล็ทฟอร์ทดิจิตัลของไทยพาณิชย์เป็นมากกว่าแอพพลิเคชันของธนาคาร ซึ่งจะเป็นช่องทางทำให้ลูกค้าหันมาใช้บริการกับไทยพาณิชย์มากขึ้น
นอกจากการพัฒนาแอพพลิเคชันโมบายแบงกิงแล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ยังจะลงทุนอีกกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่ออัพเดทเทคโนโลยีโดยรวมของระบบธนาคารทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกสริกรไทยก็ได้จับมือร่วมกับอาลีเพย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในเมืองไทย ให้สามารถชอปปิ้งในไทยได้สะดวกขึ้น ด้วยการใช้แอพพลิเคชั่นอาลีเพย์ในโทรศัพท์มือถือสแกนคิวอาร์โค้ดของร้านค้าเพื่อชำระเงินผ่านเครื่องอีดีซีของธนาคารกสิกรไทย
ทั้งนี้ ธนาคารแต่ละแห่ง ต้องพัฒนาระบบให้ก้าวหน้ามากกว่าการอัพเกรดระบบเดิมๆที่มีอยู่แล้ว หากต้องการแข่งขันในโลกดิจิตัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว