“ผมสนใจมาก ที่ผ่านมาอึดอัดมานานแล้ว” เจ๊ะอับดุลเลาะห์ เจ๊ะสอเหาะ ศิลปินเจ้าของพื้นที่แกลเลอรี Art Space ในปัตตานีกล่าวถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เขาเปิดเผยว่าก่อนหน้านั้นไม่สนใจการเมืองถึงขั้นบางครั้งไม่ไปเลือกตั้ง จนต่อมาเริ่มมองเห็นผลกระทบจากการเมืองอย่างจริงจังโดยเฉพาะในช่วงหลังการทำรัฐประหาร แต่ในขณะที่ไม่สามารถจะแสดงออกได้ เขาบอกว่าผู้คนที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกันต้องสรรหาวิธีการต่างๆ มากมายเพื่อปลดปล่อยความคิดของตนเอง แต่ว่า
“ภาพจำของการเมืองที่มีคือเป็นการกระทำที่มีการหาเสียงที่ท้ายสุดก็เพื่อตัวเอง ไม่ได้ทำเพื่อพื้นที่จริงจัง”
ซาฮารี เจ๊ะหลง นักจัดรายการวิทยุ 'มีเดียสลาตัน' เป็นอีกรายที่บอกว่า เขาเองก็ไม่ศรัทธาการเมืองถึงขั้นไม่ไปใช้สิทธิเช่นกัน เพราะ “พวกพรรคการเมืองที่เราสัมพันธ์ด้วยตั้งแต่เด็กจนโตมักจะสัญญาแล้วไม่ทำ และในพื้นตอนมีเหตุการณ์ตากใบ ไม่เห็นมีนักการเมืองที่เป็นตัวแทนสามจังหวัดออกมาพูดอะไร ไม่มีคนที่ออกมาทำอะไรให้ประชาชนรู้สึกว่ามีตัวแทน”
แต่หนนี้ซาฮารีบอกว่าเขาจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งติดตามการเมืองอย่างเข้มข้นเพราะมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาประชาธิปไตยกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดใต้
อารีฟีน โสะ อดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนเยาวชนปาตานีหรือกลุ่มเปอร์มาสให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งหนนี้จะเป็นการพิสูจน์จุดยืนของพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีต่อประชาธิปไตย ซึ่งสำหรับเขาแล้วเชื่อมโยงต่อกระบวนการสันติภาพอย่างเหนียวแน่น
“ขบวนการสันติภาพจะเดินหน้าจะต้องอยู่กับประชาธิปไตย ถ้าเอาประชาธิปไตยเราก็จะเดินหน้าได้”
การเลือกตั้งหนนี้มีความหมายอย่างยิ่งเช่นกันสำหรับคนที่ทำงานธุรกิจ ดลยรัตน์ บากา มีธุรกิจส่วนตัวขายส่งของว่างให้ร้านอาหารและร้านกาแฟ เธอบอกว่าขณะนี้เศรษฐกิจ 'ซึม' มากโดยเฉพาะในช่วงสองปีหลังนี้ แม้ว่าบางตลาดอาจจะยังคงคึกคัก แต่หลายตลาดเห็นความถดถอยชัดเจน ที่กระทบมากคือเรื่องสินค้าแปรรูปการเกษตร ปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับคนที่ผลิตของขายก็คือวัตถุดิบแพงขึ้นแต่สินค้ายังคงราคาเท่าเดิม ในพื้นที่ปัตตานี ดลยรัตน์ชี้ว่าร้านค้าบางแห่งที่อยู่มานานปิดตัวเองลง และที่อีกหลายแห่งเปิดและปิดลงอย่างรวดเร็วจนเห็นได้ถึงอาการขาลงเศรษฐกิจ มันทำให้คนทำธุรกิจอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง
“ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอาจจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นบ้าง กลุ่มนักธุรกิจด้วยกันเขาก็รอการเลือกตั้ง แม้ทุกคนจะรู้ว่าหลายอย่างคงไม่เปลี่ยน อย่าง ส.ว.นั้น คสช.ก็เลือกมา แต่อย่างน้อยหลังเลือกตั้งก็อาจจะช่วยให้มีการตรวจสอบกันได้”
ดลยรัตน์บอกว่าเธอสนใจการเลือกตั้งหนนี้อย่างมากแต่กลับไม่ตั้งความหวังเท่าใดนัก “หลายๆ อย่างก็เห็นได้ว่าคสช.วางไว้หมดแล้ว ใครจะมาสานต่อยังไงก็ต้องเดินตาม คือการหวังความเปลี่ยนแปลงมันเป็นแค่ความหวังเล็กๆ แต่อย่างน้อยก็ขอให้มีสิทธิร่วมบ้าง ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีปากมีเสียง”
ซาฮารีเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งคงไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้งมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะได้นายกรัฐมนตรีคนเดิม แต่เขาก็มีความหวังว่าพื้นที่ทางการเมืองสำหรับการทำกิจกรรมต่างๆจะมีมากขึ้น อารีฟีนเห็นพ้องว่าทหารจะยังคงอยู่ เขาชี้ว่าหากโครงสร้างการบริหารในอนาคตยังคงให้อำนาจกองทัพภาคที่ 4 ในการจัดการพื้นที่มากเช่นที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศจะได้พลเรือนเป็นรัฐบาลแต่ก็คงจะไม่มีผลสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งที่คาดกันอยู่แล้ว
“ภาคใต้มันเป็นเขตปกครองพิเศษของทหารอยู่แล้ว ถึงจะได้รัฐบาลพลเรือนก็คงจะไม่มีผลอะไร” เขาระบุว่าสิ่งที่ทุกคนจะได้ทำในการเลือกตั้งหนนี้ ก็คือการได้เลือกฝ่ายค้าน
รักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้เห็นเช่นกันว่าอำนาจของทหารจะยังอยู่ “ประเทศไทยนี้ต่อให้เป็นประชาธิปไตยยังไงก็ไม่พ้นทหาร ประเด็นคือพรรคการเมืองจะทำยังไงเมื่อเข้ามาแล้ว สามารถทำให้ทหารทำหน้าที่เฉพาะเป็นทหาร ทำได้ไหม” เขาบอกว่าสิ่งที่อยากเห็นคือพรรคการเมืองเข้าไปถ่วงดุลการทำงานของทหาร เขามองผลการเลือกตั้งหนนี้ที่จะมีต่อการบริหารพื้นที่ว่า “ผมว่าพื้นที่สามจังหวัดจะบอบช้ำมากขึ้น อย่างตอนนี้มีงบลงมา ผลประโยชน์ลงมาจำนวนมาก งบเพิ่มทั้งๆที่บอกว่าเหตุการณ์ดีขึ้น ถ้าเลือกตั้งยังได้รัฐบาลทหารมาก็จะเบ็ดเสร็จมากขึ้นเพราะพูดได้ว่าผมมาจากการเลือกตั้งแล้ว จะมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจมากขึ้น” รักชาติเป็นอีกคนที่หวังว่าพื้นที่ในการแสดงออกจะเปิดกว้างมากขึ้นหลังการเลือกตั้ง
อัญชนา หีมมิหน๊ะ คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งกลุ่มด้วยใจหวังว่าการมีพลเรือนมากขึ้นในกลไกการเมืองอาจจะทำให้มีการตรวจสอบมากขึ้น
“ถ้าเทียบรัฐบาลพลเรือนกับรัฐบาลจากการรัฐประหาร การป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิในสมัยรัฐบาลพลเรือนทำได้มากกว่ารัฐบาลทหาร การใช้กฎหมายก็ระวังมากกว่า แสดงออกได้มากกว่า รัฐบาลทหารสร้างพลังอำนาจให้ทหารทำได้ทุกอย่าง.. ไม่มีตัวบาลานซ์ (ถ่วงดุล) ทหารไม่ต้องไปศาล และก่อนจะถึงศาลทหารทำมาทุกอย่างแล้ว โดยไม่มีกลไกตรวจสอบ”
หลายรายรอวันเวลาที่พื้นที่ทางการเมืองจะเปิดมากขึ้น รักชาติแห่งเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพยกตัวอย่างว่าที่ผ่านมาหลายหนมีปัญหาการ 'เปิดพื้นที่' จัดกิจกรรมไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ไว้วางใจองค์กรต่างๆ แม้แต่เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพที่ไม่ได้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐก็ยังเผชิญปัญหานี้
“การเปิดพื้นที่ทางการเมืองเป็นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ คนพุทธเองก็ยังไม่รู้เลยหลายๆเรื่อง เช่น เรื่องกระจายอำนาจจะเป็นแบบไหน ปกครองพิเศษที่ว่ากันคือแบบไหน ใช้ความรู้สึกตัดสินกันว่าเป็นเรื่องของแนวทางแบ่งแยกดินแดน จะเอาเอกราช”
สำหรับสามจังหวัดภาคใต้ หลายคนเห็นว่านโยบายที่ต้องถือว่าเป็นนโยบาย 'มาตรฐาน' สำหรับทุกพรรคก็คือการกระจายอำนาจและการสานต่อการพูดคุยสันติภาพ เพราะเห็นกันว่าเป็นทางออกของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง รักชาติเชื่อว่าเรื่องของการพูดคุยสันติภาพนั้นไม่ว่าใครทำก็จะได้ผลพอๆกัน แต่ อัสมาดี บือเฮง นักเขียนที่เปิดเพจเฟซบุ๊กเผยแพร่งานตัวเองบอกว่า กระบวนการพูดคุยจะได้ผลต้องทำภายใต้ระบบประชาธิปไตย เขาบอกว่าการต่อรองในระบอบประชาธิปไตยจะคืนกระบวนการตัดสินใจให้ทุกคน แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นการถกเถียงที่ “กล้าแตะเพดานจริงๆ ต้องคุยกับคนไทยทุกคน”
อัสมาดีเชื่อว่ากระบวนการสันติภาพ “มันเป็นนวัตกรรมของฝ่ายประชาธิปไตย จะให้มาเกิดภายใต้ทหาร คุณเอาเครื่องมือมาแต่ไปทำลายมัน มันจะทำให้คนผิดหวังกับกระบวนการ คนลืมมองไปว่ามีเงื่อนไขเหล่านี้ต่างหาก สุดท้ายผมมองว่ากลัวคนจะผิดหวัง”
เขาตั้งข้อสังเกตว่า การขยับกระบวนการสันติภาพในช่วงก่อนเลือกตั้งของ คสช.โดยมีความเชื่อมโยงกับตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคประชารัฐนั้นน่าสนใจ “ผมมองว่า ถ้ากระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นอาจมีผลต่อการออกเสียง ทหารอาจใช้โอกาสนี้ทำอะไรสักอย่างให้ได้คะแนน เช่นในการยกเครื่องกระบวนการพูดคุย”
เขาชี้ว่า พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข ก็มีความเกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง ในขณะที่รักชาติแห่งเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพตั้งคำถามว่า ในเมื่อหัวหน้าคณะพูดคุยมีความเชื่อมโยงกับพรรคประชารัฐและในกลไกบริหารของพื้นที่ ดังนั้นโดยสายการบังคับบัญชาเขาจะต้องฟังแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วยหรือไม่ นับว่าเป็นอีกคำถามที่สะท้อนความวิตกเรื่องอำนาจของกองทัพในพื้นที่นี้
รักชาติเห็นว่า การกระจายอำนาจจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ แต่สิ่งสำคัญคือคนในพื้นที่จะต้องเข้าใจ และ “ทหารต้องเข้าใจด้วย” ส่วนเรื่องพหุวัฒนธรรมเป็นคำที่ผู้คนยังเข้าใจไม่ตรงกัน เจ้าหน้าที่บางส่วนมองแค่ว่าเรื่องของการที่พุทธและมุสลิมได้ทำกิจกรรมร่วมกันและบางครั้งยังมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปร่วมดำเนินการจนภาพออกมาคล้ายจะเป็นการจัดฉาก ในขณะที่ในบางเรื่องกลับตีโจทย์ไม่ออก เช่นเรื่องว่าการอนุญาตให้นักเรียนได้สวมผ้าคลุมผมในโรงเรียนไม่ได้เป็นเรื่องของการคุกคาม
ส่วนอัญชนาแห่งกลุ่มด้วยใจก็มองว่าคำว่าพหุวัฒนธรรมยังเป็นปัญหาเรื่องความเข้าใจที่ไม่ตรงกันหรือฉาบฉวยเช่นกัน “ทำไมมีปัญหาฮิญาบ เพราะการพูดเรื่องพหุวัฒนธรรมของเรายังไม่จริง ไม่เข้าใจ มันจึงเกิดการต่อต้าน สะสมความชิงชังเคียดแค้น” เธอมองว่าแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ยังมองเห็นกันแค่ยอดของปัญหาโดยไม่เข้าใจปัญหาพื้นฐาน และ “มันมีเงาของข้าราชการของความมั่นคงครอบคลุม เงาของศาสนา” อัญชนาอยากเห็นพรรคการเมืองเปิดกว้างให้ประชาชนนำเสนอโจทย์ในพื้นที่เพื่อให้นำไปทำเป็นนโยบาย ไม่ว่าปัญหาเช่นสาธารณสุข การศึกษาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และเรื่องของความยุติธรรมที่เธอทำงานเกี่ยวข้องอยู่
“ปัญหาขบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องใหญ่ คนถูกคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษหมื่นกว่าคน เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่เคยถูกพูดถึง แต่พูดไปถึงการพูดคุยสันติภาพของคนกลุ่มนี้ เขาไม่ได้ประโยชน์จากการพูดคุยเลย ปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไข เพราะเรายังขาดการนำปัญหาจริงมาจัดการเพื่อนำไปสู่การแก้ไข เจ้าหน้าที่มาทำงานกับเอ็นจีโอก็เพื่อจะปรับทัศนะของเอ็นจีโอ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่รากเหง้า”
ส่วนรักชาติอยากเห็นพรรคการเมืองเสนอแนวทางในเรื่องของเศรษฐกิจ เขารู้สึกว่า “ถ้าเศรษฐกิจดี การก่อเหตุอาจจะลดลง บรรยากาศการพูดคุยจะเอื้อกว่านี้เยอะ แต่ต้องมีเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องการศึกษา จะทำยังไงให้เด็กไม่ไหลออกไปเรียนข้างนอกมาก ทั้งๆที่มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กเก่งๆ ไปเรียนแล้วไม่กลับ ถึงกลับมาก็หางานยาก เศรษฐกิจแย่ลง” เขาบอกอีกว่ายังไม่เห็นนโยบายของพรรคในเรื่องการสร้างความปรองดองระหว่างคนต่างกลุ่ม รวมทั้งการศึกษาและเห็นว่าประเด็นที่จะพูดถึงคนพุทธโดยเฉพาะในพรรคต่างๆ มีน้อยไป แต่ในขณะเดียวกันกลับมีความเคลื่อนไหวบางอย่างที่น่าจับตา
“กลุ่มคนพุทธหลายกลุ่มพยายามผลักดันศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาประจำชาติ เลยเห็นดีเห็นงามกับพรรคการเมืองบางพรรคที่ชูประเด็นว่า ส.ส.ต้องเป็นคนพุทธเท่านั้น ผมว่าน่ากลัว เพราะการที่อยากได้่คะแนนเสียงจากคนพุทธ ทำให้ต้องสร้างความเกลียดชังในหมู่คนพุทธต่อศาสนาอิสลาม ซึ่งมันยิ่งทับถมสถานการณ์ น่าห่วง เพราะมันอาจทำให้ความขัดแย้งกลับกลายเป็นประเด็นศาสนา”
รักชาติชี้ว่าที่ผ่านมามีการใช้ความรุนแรงกับคนพุทธ ทำให้มีคนรู้สึกถูกคุกคาม “คนพุทธโดนยิงไล่ที่ เผาบ้านให้ย้ายหนี” แต่ในขณะเดียวกัน การที่คนพุทธย้ายออกยังมาจากปัจจัยอื่นด้วย ไม่ใช่เพราะความรุนแรงเท่านั้น เช่น การที่ผู้คนออกนอกพื้นที่ไปหางานทำหรือไปเรียนแล้วไม่กลับ เขาระบุว่า ความรู้สึกว่าคนพุทธมีกิจกรรมทางศาสนาน้อยลงไม่ได้เป็นผลมาจากการคุกคามของใคร แต่เป็นความรู้สึกในเชิงเปรียบเทียบ “เพราะเราคนพุทธไม่แข็งแรงเรื่องศาสนา แต่มุสลิมเขาแข็งแรง เขาก็ทำกิจกรรมทางศาสนาของเขาได้เยอะ มันเลยสร้างความรู้สึกถูกรุกในพื้นที่” ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องพิจารณาหลายปัจจัยด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม รักชาติเห็นว่า ความรู้สึกของกลุ่มคนพุทธที่รู้สึกว่าตัวเองถูกรุกนั้นยังรุนแรงขึ้นเพราะการเคลื่อนไหวบางอย่างของมุสลิมในพื้นที่ที่ดูไม่ใจเย็นพอ เช่น กรณีการเรียกร้องให้สวมผ้าคลุมผมที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานี ยิ่งเร่งเร้าความรู้สึกว่ามีการเรียกร้องโดยไม่สนใจคนในศาสนาอื่น โดยรวมแล้วประเด็นความอ่อนไหวในเรื่องเช่นนี้ระหว่างพุทธและมุสลิม รักชาติยังไม่เห็นว่าพรรคการเมืองจะเสนอแนวทางอย่างใดในอันที่จะเชื่อมต่อได้
ทางด้านอัญชนาฝากไปถึงผู้หญิงในพื้นที่ที่ลงทำงานการเมืองว่าขณะนี้ “ยังไม่มีใครพูดเรื่องความรุนแรงในครอบครัว บทบาทของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพ ผู้หญิงกับการปกป้องคุ้มครองเด็ก ผู้หญิงที่เป็นส.ส.ต้องรู้ตัวเองว่ามีศักยภาพด้านไหน และต้องเชื่อมกับสังคมในพื้นที่ รู้ว่าผู้หญิงต้องการอะไร” เรื่องใหญ่ในสายตาอัญชนาคือการมีบทบาทสร้างการยอมรับให้กับผู้หญิง “ผู้หญิงไม่ใช่เป็นแม่ของลูกเท่านั้น แต่สามารถเลี้ยงคนในบ้านให้มีคุณภาพได้ ผู้หญิงด้วยกันต้องให้ผู้หญิงได้รับการยอมรับ ไม่ใช่ว่าผู้หญิงออกมาแล้วต่อต้าน ในขณะที่การจะยอมรับผู้หญิงคนหนึ่งได้ ผู้หญิงต้องมีคุณค่า”
ซาฮารีบอกว่า สิ่งที่เขาสนใจในเวลานี้คือพรรคการเมืองที่จะสร้างสถาบันการเมืองอย่างแท้จริงเพื่อให้เป็นอนาคตให้คนรุ่นหลัง เขายังเห็นว่าพื้นที่นี้ควรจะมีพรรคการเมืองเฉพาะท้องถิ่น ซึ่งจะมีบทบาทช่วยระดมสมองและความคิดของคนในพื้นที่ทำให้มองเห็นความต้องการของตัวเองชัดเจนขึ้น เป็นปากเสียงให้วางรูปแบบแนวทางการขับเคลื่อนทางการเมืองให้กับคนในพื้นที่
“ทำให้ความต้องการของคนในพื้นที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างน้อยมีเสียงไปคุยในสภาได้ มันจะทำให้คนที่มีแนวคิดสนับสนุนความรุนแรงมีที่ทางในการแสดงออกที่เป็นอารยะมากขึ้น ขณะนี้เราจะเห็นว่าคนไม่มีที่ทางในการแสดงออก เช่นคนถูกกระทำ เขาก็จะสะใจเวลาทหารโดน มันทำให้การใช้ความรุนแรงของขบวนการมีความชอบธรรม แต่ถ้ามีพรรค มวลชนจะเติบโต การต่อสู้จะอารยะมากขึ้น”
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคนรุ่นใหม่ ซาฮารีและอารีฟีนบอกว่าพวกเขาเคยคาดหวังกับพรรคการเมืองบางพรรค เพราะมีนโยบายที่น่าสนใจ แต่แล้วก็ผิดหวังเพราะไม่เห็นว่ามีคนที่จะเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่อยู่ในกลุ่มผู้สมัครของพรรคแต่อย่างใด ทั้งที่บอกว่าต้องการเสียงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่
“เขามักอ้างคนรุ่นใหม่ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีฐาน คนจะลงได้ต้องมีคนรู้จัก มีฐานธุรกิจ ฐานมวลชน เขาขอลงก่อน ก็พูดแบบนี้ตลอด” ซาฮารีว่า เขาเห็นว่าในที่สุดคนรุ่นใหม่ที่ไปอยู่กับพรรคการเมืองจะเป็นได้ก็แค่ “มดงาน” เท่านั้น เพราะระบบพรรคการเมืองไม่เอื้อหรือเปิดโอกาสให้
เจ๊ะอับดุลเลาะห์บอกว่า ปัญหานี้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจะเปลี่ยนได้เพราะเป็นเรื่องของทั้งระบบ “โครงสร้างการเมืองไม่ว่าระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น เราเข้าใจ โครงสร้างการซื้อเสียงสู่อำนาจ เราแก้ไขไม่ได้ การเมืองเป็นการลงทุน เข้าไปแล้วต้องได้กำไร” ดลยรัตน์ดูจะมีความเห็นคล้ายกัน “หลายคนเข้าไปแล้วถูกกลืน ต่อให้เริ่มต้นมีอุดมการณ์แรงกล้าก็ตาม” นอกจากนั้นเห็นได้ด้วยว่า บางทีในพรรคเดียวกันยังมีความย้อนแย้ง ผู้ชายในพรรคกดผู้หญิงก็มี
แต่ในหนนี้เธอบอกว่ายังพอจะมีบางส่วนที่ให้ความหวังบ้างว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
เจ๊ะอับดุลเลาะห์มองว่า นอกจากเรื่องระบบที่ต้องใช้เงินทำให้การเมืองกลายเป็นการลงทุนแล้ว ยังมีเรื่องของทัศนะ เขาเห็นว่าผู้มีอำนาจเคยชินกับการควบคุม ยกตัวอย่างการทำงานศิลปะที่บ่งบอกอัตลักษณ์มลายูของเขา “ผมทำแกลเลอรีก็โดนท้าทาย ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ไม่รู้ว่าเขาจริงใจแค่ไหนที่จะให้บ้านเมืองเจริญในทางความคิด การศึกษา ก็เลยไม่รู้ว่าศูนย์กลางอำนาจต้องการให้เจริญโดยอยู่ภายใต้การศิโรราบต่อรองไม่ได้ หรือว่าเจริญได้แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม” ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้เขาคิดว่า สิ่งที่เป็นทางออกของคนทั่วไปก็คือต้องสร้างพลังให้ตัวเองในการต่อรอง
“อำนาจ บารมี เงินทอง เราไม่มีอยู่แล้ว แต่เราต้องมีอิทธิพลทางความคิด ทำในสิ่งที่เราถนัด เราชอบ เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีงาม ทำเพื่อจะต่อรองได้ ไม่ว่ากับผู้นำท้องถิ่นหรือใคร เพื่อกำหนดทิศทางอย่างน้อยให้กับชุมชนบ้านเรา และถ้าเขามาร่วมกับเรา เขาจะได้ผลกำไร ได้อำนาจบารมี อย่างผมทำพื้นที่ตรงนี้ ผู้นำท้องถิ่นจากที่ไม่ชอบขี้หน้าก็เริ่มหันมามอง”
เขาฝากถึงเพื่อนหลายคนที่ 'ลงการเมือง' ว่านอกจากต้องทำเพื่อชุมชนและสังคมอย่างแท้จริงแล้ว พวกเขาจะต้องรักษาความเป็นมิตรกันไว้ด้วย เขาชี้ว่าที่ผ่านมาทุกคนควรจะได้บทเรียนจากความขัดแย้งทางการเมืองมาบ้างแล้ว “การเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะส่วนกลางมันเป็นบทเรียนสำหรับเรา ขนาดอยู่ในห้องหรือในบ้านเดียวกันก็ยังแตกแยก มันพัง จุดต่างเราก็ปล่อยให้เป็นไปของมัน แต่จุดร่วมต้องให้คงอยู่ อย่าให้ต่างจนอยู่ด้วยกันไม่ได้”
เจ๊ะอับดุลเลาะห์บอกว่าหนนี้สำหรับเขา ถ้าใครหวังผลระยะยาวก็จะเลือกคนนั้น “ท้ายสุดต้องเลือกคนที่จะส่งผลต่อพื้นที่มากที่สุด เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุดแม้ว่าอาจจะไม่ถูกจริตเรา”
อีกหลายคนในกลุ่มมองระยะยาวเช่นกัน แต่บางคนย้ำให้ไปทีละก้าว เช่นดลยรัตน์ชี้ว่าในเรื่องการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่คิดระดับใหญ่เกินไป ขณะที่พบว่าหลายครั้งแค่เรื่องเล็กๆ ยังไม่สามารถทำได้ ส่วนอัสมาดี อารีฟีนล้วนแล้วแต่บอกว่า พวกเขามองการเลือกตั้งหนนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาตัวเองและระบบประชาธิปไตย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: