ไม่พบผลการค้นหา
เผยมาตรการยกระดับการใช้กฎอัยการศึกในสองตำบล มีผลเหมือนเป็นการเอกซเรย์พื้นที่สีแดง มีการเรียกจดทะเบียนพาหนะทุกอย่าง วาทกรรมว่าด้วย 'ความร่วมมือ' ได้รับการขานรับ ส่อนัยการเพิ่มทักษะ 'อยู่เป็น' ของชาวบ้านภายใต้สภาพถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น

ริมคลองปากอ่าวเข้าหมู่บ้านตันหยงเปาว์ จ.ปัตตานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ดูพลุกพล่านเพราะเรือหลายลำที่เข้าจอดเทียบตลิ่ง เจ้าหน้าที่ปักเต็นท์ริมน้ำ ในนั้นมีชายทั้งฉกรรจ์และไม่ฉกรรจ์นั่งรอการเรียกชื่อเพื่อตรวจสอบเอกสารในมือก่อนที่จะมีการตรวจวัดขนาดเรือ หลังจากนั้นเจ้าของเรือถือป้ายชื่อพร้อมรายละเอียดยืนให้เจ้าหน้าที่ถ่ายรูปคู่กับเรือของตัวเอง ส่วนเรือต้องพ่นสีระบุหมายเลขติดไว้ที่ด้านข้าง มันเป็นกระบวนการจดทะเบียนเรือของกองทัพภาคที่ 4 ที่ทำเฉพาะในตำบลท่ากำชำและตำบลบางเขา สองตำบลของอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี เท่านั้น

คำสั่งดังกล่าวนั้นอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกให้ประชาชนในสองตำบลที่ว่า นำเรือ ยานพาหนะ อาวุธ ทั้งหมดไปขึ้นทะเบียนกับทางการ ตัวคำสั่งยังเปิดทางให้กับการปิดล้อมตรวจค้นได้อย่างต่อเนื่องในห้วงเวลา 7 วันที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. เป็นมาตรการที่ออกมาหลังจากที่มีการซุ่มโจมตีจนเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 และบาดเจ็บอีก 4 เมื่อ 11 ก.ย. หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ใช้กำลังกว่าพันนายตรวจค้นในพื้นที่จนได้ตัวผู้ต้องสงสัยไป 8 คน แล้วจึงตามมาด้วยการประกาศมาตรการยกระดับการใช้กฎอัยการศึกดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศใช้อำนาจในลักษณะนี้ แม้ว่าสามจังหวัดภาคใต้จะอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษและกฎอัยการศึกมานานเต็มทีก็ตาม หลังมีประกาศออกมา กลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่หลายคนแสดงความเป็นห่วงอย่างเปิดเผยเพราะวิตกว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับการละเมิดสิทธิ

เจ้าหน้าที่และผู้นำชุมชนต่างเชื่อว่าในหมู่บ้านตันหยงเปาว์ในตำบลท่ากำชำนั้น มีเรือทั้งที่มีเครื่องและเรือพายร้อยกว่าลำ นายทหารที่รับหน้าที่ดูแลการจดทะเบียนอธิบายว่า เมื่อดูจากยอดเรือที่เจ้าของนำไปขอจดพบว่า ในเวลาไม่ถึงครึ่งมีร่วม 80 ลำทำให้เห็นได้ว่าน่าพอใจ นายทหารรายนั้นซึ่งขอสงวนชื่อบอกว่า มันแปลว่าประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง “นั่นคือเราทำงานได้ผล และเข้าถึงชาวบ้าน” อีกประเด็นที่เขาย้ำก็คือ “ผู้นำชาวบ้านทำงานดี ประสานงานได้ดี” เขาบอกว่าการที่ประชาชนในตันหยงเปาว์ร่วมมือในระดับนี้ถือว่าดีมากแล้ว เพราะที่หมู่บ้านนี้ “ครั้งหนึ่งชาวบ้านเคยปิดประตูใส่หน้าเจ้าหน้าที่มาแล้ว” ปรากฎการณ์ใหม่มันทำให้เขาแสดงความเชื่อมั่นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านตันหยงเปาว์กับเจ้าหน้าที่กำลังไปได้สวย 

ตันหยงเปาว์-ปัตตานี-ขึ้นทะเบียนเรือประมง-จังหวัดภาคใต้-ชายแดนใต้

ราวกับจะตอบคำถามของเสียงติติงที่ดังมาจากโลกโซเชียลมีเดียถึงความวิตกของการใช้มาตรการนี้ นายทหารผู้นั้นยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ห้ามชาวบ้านไม่ให้ออกเรือหรือทำมาหากิน ผู้คนใช้ชีวิตได้ตามปกติไม่ได้มีปัญหาดังที่คนนอกนำไปพูดกัน การใช้กฎอัยการศึกไม่ได้ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว แต่เขาก็ยืนยันให้ผู้้สื่อข่าวไต่ถามชาวบ้านเอาเอง “ถามชาวบ้านครับ อย่าถามผม จะได้มีข้อมูลที่ถูกต้อง” 

ซึ่งชาวบ้านหลายคนที่นำเรือไปจดทะเบียนก็บอกผู้สื่อข่าวว่า พวกเขายินดีที่จะทำตามมาตรการนี้ เพราะว่ามันจะทำให้ออกหาปลาได้อย่างสบายใจมากขึ้น บทสนทนากับชาวบ้านเรื่องการทำมาหากินที่ตามมาพบว่า มาตรการของเจ้าหน้าที่มีผลต่อปัจจัยยังชีพของชาวบ้านโดยตรง

“บ้านตันหยงเปาว์มันเป็นหมู่บ้านประมง ชาวบ้านที่นี่จับปลากันทั้งนั้น” ชาวประมงคนหนึ่งในหมู่บ้านเล่า วิถีประมงคือชีวิตประชาชนที่นั่น แต่ที่ผ่านมาอาชีพนี้ได้รับผลกระทบหลายอย่าง เขาบอกว่าบ้านนี้เคยมีเรือประมงร่วม 200 ลำ มาวันนี้เรือลดจำนวนไปครึ่งหนึ่ง คนหาปลาย้ายตัวเองออกไปอยู่มาเลเซีย เพราะทรัพยากรร่อยหรอจนหากินไม่ได้ 

เขาชี้ให้ดูแนวปากอ่าวหลังแถวต้นมะพร้าว “หน้าอ่าวนี่เมื่อก่อนเรือพาณิชย์จอดกันเต็ม” เขาว่า เรือหาปลาขนาดใหญ่เชิงพาณิชย์จากที่อื่นเข้าไปหาปลาแย่งสัตว์น้ำไปจากประมงพื้นบ้าน การแย่งชิงทรัพยากรกันด้วยการใช้อุปกรณ์ที่จับสัตว์น้ำหมดทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ยังผลให้สัตว์น้ำร่อยหรอจนบางชนิดแทบเหือดหาย ผลคือคนบางส่วนหมดอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มที่จับกุ้งจับปู รวมทั้งกลุ่มคนที่เรียกกันว่า 'ดุหลำ' คือคนดำน้ำฟังเสียงปลา 

ผลของการรณรงค์อย่างหนักโดยกลุ่มประมงพื้นบ้านและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทำให้มีการออกกฎหมายห้ามใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ทว่ามีกฎหมายแต่การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็ทำให้วันนี้ประมงพื้นบ้านขัดแย้งกันเอง “คนหาปลาในหมู่บ้านประมงริมอ่าวปัตตานีทุกแห่งตอนนี้ทะเลาะกันหนักมาก” เขาเล่าว่าบางทีถึงขั้นต่างฝ่ายต่างกลั่นแกล้งกันเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายได้ปลา ขณะที่สัตว์น้ำก็ร่อยหรอลงจนยากที่หลายๆ คนจะอยู่ได้ ชาวประมงหลายรายเป็นหนี้สิน ดังนั้นผู้คนในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งทิ้งเรือมุ่งหน้าไปหางานทำในมาเลเซีย โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว “คนในหมู่บ้านที่เหลือส่วนใหญ่คนแก่ทั้งนั้น” เขาว่า 

ตันหยงเปาว์-ปัตตานี-ขึ้นทะเบียนเรือประมง-จังหวัดภาคใต้-ชายแดนใต้

แรงกดดันยังไม่จบแค่นั้น สองปีมานี้ คสช.ได้ระงับการขึ้นทะเบียนเรือประมงเอาไว้อย่างไม่มีกำหนด กระบวนการที่ผ่านมายังทำให้ชาวประมงพื้นบ้านจำนวนไม่น้อยที่ตามไม่ทันกับหลักเกณฑ์ได้ถูกเพิกถอนทะเบียนไป แน่นอนว่า ภายใต้แรงกดดันหลายอย่างเช่นนี้ ชาวประมงในพื้นที่อย่างบ้านตันหยงเปาว์ย่อมไม่อยากเพิ่มเงื่อนไขที่จะทำให้พวกเขาทำมาหากินไม่ได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเรียกให้ไปจดทะเบียนเรือ หลายคนจึงนำเรือไปรอเข้าคิวขอหมายเลขกันแต่เช้า บ้างแสดงความคาดหวังว่า มาตรการอันนี้จะช่วยให้พวกเขาได้ขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่าง่ายขึ้นเมื่อใดก็ตามที่หน่วยงานนั้นเปิดรับให้ไปจดทะเบียน

จากคำอธิบายของนายอำเภอหนองจิก นายเอก ยังอภัยย์ ซึ่งไปดูแลการทำงานของเจ้าหน้าที่ก็พบว่า มาตรการจดทะเบียนหนนี้คือสิ่งที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบสิ่งของ ยานพาหนะทุกอย่างที่ประชาชนมีในครอบครอง เนื่องจากที่ผ่านมาการจดทะเบียนของกรมขนส่งและกรมเจ้าท่ามีข้อมูลเฉพาะของที่ใช้งานเท่านั้น ของที่ไม่ได้ใช้หรือไม่เข้าข่ายจดทะเบียนทางราชการไม่มีข้อมูล หนนี้คือการเก็บรายละเอียดทุกอย่างที่มีไม่ว่ารถหรือเรือ แม้แต่ของที่ผ่านการดัดแปลงหรือทำใช้กันเอง สำหรับชาวบ้าน เขาชี้ว่าผลดีก็มีหลายอย่าง โดยเฉพาะมันเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ เช่น รถที่ซื้อมา หากมีสถานะเป็นรถแจ้งหาย เจ้าหน้าที่ก็จะบันทึกข้อมูลไว้ หรือในเรื่องอาวุธที่ไม่มีทะเบียนก็ถือว่าเจ้าหน้าที่เปิดโอกาสให้นำไปมอบให้เจ้าหน้าที่ได้โดยไม่มีความผิด


“มันมีความสำคัญที่ว่าในช่วงนี้ไม่เป็นความผิด คือรัฐให้เวลาและโอกาสแล้ว ถ้ามีเจตนาสุจริตก็ให้ความร่วมมือ แต่ถ้าเจอทีหลังจะมีปัญหาได้”


นายอำเภอหนองจิกชี้ว่าเรือที่มีอยู่ในบ้านตันหยงเปาว์ส่วนใหญ่ไม่มีทะเบียน ในแง่ของเจ้าหน้าที่ นี่ก็จะช่วยให้ได้ข้อมูลที่จะช่วยการทำงานในเวลาต่อไป เขาเปิดเผยด้วยว่าทางอำเภอได้ดำเนินการช่วยเหลือเจ้าของเรือเพิ่มเติม เพราะรู้ว่าก่อนหน้านี้มีเจ้าของเรือหลายรายถูกกรมเจ้าท่าเพิกถอนใบอนุญาต ดังนั้นอำเภอจึงออกประกาศให้พวกเขาไปอุทธรณ์คำสั่งภายในเวลา 15 วัน นอกจากนั้นแล้ว ในการทำประมง เจ้าของเรือไม่เพียงแต่ต้องขึ้นทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่าเท่านั้น แต่ต้องขึ้นทะเบียนอุปกรณ์กับประมงอำเภอด้วย

การที่คนเหล่านี้ต้องเตรียมเอกสารเพิื่อไปจดทะเบียนเรือตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ทหาร ในความเห็นของเขา มันเท่ากับเป็นการเตรียมตัวสำหรับจดทะเบียนในอนาคต เมื่อใดก็ตามที่ทางการผ่อนคลายมาตรการและเปิดให้มีการขึ้นทะเบียนพวกเขาก็จะทำได้อย่างรวดเร็ว เขาคาดว่าในสองตำบลที่มีคำสั่งให้จดทะเบียนหนนี้น่าจะมีเรือทุกอย่างทั้งที่มีเครื่องและไม่มี รวมไปถึงเรือไฟเบอร์ รวมแล้วไม่เกิน 300 ลำ หลังจากนี้เอกสารต่างๆ ของเรือประมงทุกลำจะมีผู้ถือไว้ทั้งที่อำเภอ ที่ผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่ทหาร การดำเนินมาตรการเช่นนี้นายอำเภอบอกว่า อาศัยหลักรัฐศาสตร์เป็นตัวนำ มาตรการเสริมนี้เขาเชื่อว่าเป็นการสนับสนุนชาวบ้านในจังหวะที่ถูกต้อง นายอำเภอย้ำว่าสำหรับชาวบ้านเองแม้ว่าจะทำไม่ได้ทุกเรื่อง แต่สิ่งสำคัญคือการให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ 

ตันหยงเปาว์-ปัตตานี-ขึ้นทะเบียนเรือประมง-จังหวัดภาคใต้-ชายแดนใต้

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารที่ไปดูแลการจดทะเบียนบอกกับนักข่าวว่า การจดทะเบียนหนนี้นั้นสำหรับทหารแล้ว มันเป็นมาตรการด้านความมั่นคงเพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบเรือที่พบได้อย่างทันท่วงทีและถูกต้องเมื่อมีเหตุต้องสงสัย มีข้อมูลชัดเจนว่าเรือลำไหนเป็นของใคร อยู่ที่ไหน มีรายละเอียดการครอบครองอย่างไร เช่นเดียวกันกับรถ


“ที่ทำนี้มันจะช่วยลดความหวาดระแวงและทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ดีขึ้น ในขณะที่ชาวบ้านเองก็จะสบายใจเพราะเขามาขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ไม่ต้องกลัวเวลาเจอเจ้าหน้าที่”


ซึ่งนั่นก็คือสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นมาแล้วกับคนหาปลาหลายคนในหมู่บ้าน บนเส้นทางเข้าสู่หมู่บ้านที่ผ่านคลองและป่าโกงกางขนาดใหญ่ ยังสามารถมองเห็นทหารบางนายที่เข้าไปลาดตระเวนอยู่ในป่าโกงกางได้ ในป่ากว้างใหญ่นั้นคนมักนำเรือออกหาปลาตามลำพัง

“ชาวบ้านไม่กล้าออกเรือกลางคืน กลัว” แดง คงอินทร์ ชาวบ้านที่ไปนั่งดูการจดทะเบียนเรือบอก เขาชี้ว่าวิถีการทำประมงของคนในหมู่บ้านอย่างหนึ่งก็คือการออกไปหาปลาในยามค่ำคืนตามลำคลองใหญ่น้อยที่คดเคี้ยวอยู่ในผืนป่าโกงกางรอบหมู่บ้าน ชาวบ้านหลายคนที่พูดไทยไม่คล่องมีความวิตกในเรื่องที่จะต้องตอบคำถามเจ้าหน้าที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาเป็นอีกคนที่ชี้ว่าการได้ขึ้นทะเบียนตามที่เจ้าหน้าที่ต้องการอาจจะทำให้ลดความระแวงกันไปได้บ้าง คลายความตึงเครียดลง

เจ้าของเรืออีกรายเล่าว่า หลายวันก่อนหน้านั้นมีผู้ประสบเหตุ เรือของเขาถูกเรือของเจ้าหน้าที่ชน “โชคดีที่เขาไม่ตกใจจนโดดน้ำหนี ไม่งั้นไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” ประเด็นคือการพบกับเจ้าหน้าที่ในยามค่ำคืนและแบบตัวคนเดียวนับเป็นสิ่งที่น่าวิตก แม้จะไม่มีการห้ามหาปลา แต่บางคนถึงกับยอมไม่ออกเรือในช่วงหลายวันที่ผ่านมา สิ่งที่พวกเขาห่วงคือสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ และอยู่เหนือการควบคุม เป็นสภาพที่ “อะไรก็เกิดขึ้นได้ ใครจะรู้ใครจะเห็น” 

ตันหยงเปาว์-ปัตตานี-ขึ้นทะเบียนเรือประมง-จังหวัดภาคใต้-ชายแดนใต้

ผู้สื่อข่าวบางรายถามชาวบ้านว่า พวกเขาคิดว่าจะช่วยทางการได้อย่างไรในการติดตามตัวผู้ก่อเหตุ “เราจะทำอะไรได้ ก็เราไม่รู้” ชาวบ้านรายหนึ่งว่า “แล้วถึงจะรู้เราจะบอกได้ไหม บอกไปแล้วตัวผม ลูก เมียผมจะอยู่ยังไง เจ้าหน้าที่จะมาดูแล แล้วอยู่กับเราได้ตลอดหรือเปล่า” เขาก้มหน้าพูดเสียงเบาราวกับกลัวจะมีความผิดที่ได้พูดเช่นนั้น

แต่หลายคนตระหนักว่าหมู่บ้านตันหยงเปาว์ของพวกเขาตกเป็นที่สงสัยของเจ้าหน้าที่อย่างหนัก เห็นได้ง่ายๆ จากการถูกตรวจค้น “เราไม่เข้าใจ เหตุเกิดที่อื่น โน่น ฝั่งโน้น แต่เจ้าหน้าที่มาตรวจแถวนี้” ชาวบ้านคนหนึ่งชี้มือไปทางอีกหมู่บ้านหนึ่ง 

“เจ้าหน้าที่เคยมาที่นี่แล้วบอกว่า ที่ไปก่อเหตุที่ไหนๆ มันก็คือไปจากที่นี่ทั้งนั้น” ชาวบ้านรายนี้บอกว่า อันที่จริงบ้านตันหยงเปาว์นั้นเจ้าหน้าที่เข้าตรวจตราได้ทุกเมื่อ “ก็ทางออกของหมู่บ้านมันก็มีอยู่แค่นี้” เขาว่าพร้อมกับชี้ให้ดูคลองกับถนนเข้าหมู่บ้านที่เขาบอกว่าถึงอย่างไรก็ต้องผ่านด่านของเจ้าหน้าที่ การตกเป็นจำเลยในความรู้สึกนั้นดูจะรบกวนจิตใจชาวประมงรายนี้ไม่น้อย แม้ในถ้อยคำไม่กี่คำที่เขาพูดออกมา

“เรามันหมู่บ้านแพะรึเปล่า” เขาว่า

อ่านเพิ่มเติม: