ไม่พบผลการค้นหา
แถลงการณ์ของกลุ่ม 'ไทยพื้นที่รักสันติ' เรียกร้องให้สถาบันการศึกษาดำเนินการกับกลุ่มนักศึกษามลายูมุสลิม 'เปอร์มาส' และองค์กรภาคประชาสังคม 'คปส.' พร้อมประณามอย่างรุนแรงว่าใช้คำพูดแสดงความแตกแยก และเป็น 'ขบถ'

การรวมตัวของกลุ่มคนที่แสดงตัวว่าไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนักกิจกรรมมลายูมุสลิมรุ่นใหม่ 'สายแข็ง' หนนี้ เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 24 ก.ย. 2561 โดยมีกลุ่มคนพุทธและมุสลิมกลุ่มหนึ่งได้นัดรวมตัวกันบริเวณวงเวียนหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี มีการนำป้ายเขียนข้อความประณาม แจก และอ่านแถลงการณ์ ก่อนที่จะไปพบตัวแทนผู้บริหารมหาวิทยาลัย พร้อมแจ้งข้อเรียกร้อง ก่อนที่จะเดินทางไปแสดงการสนับสนุนให้กำลังใจกับหน่วยเฉพาะกิจของทหารที่ใกล้ที่สุดต่อไป

ในการรวมตัวที่มีการอารักขาของเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ กลุ่มคนที่ใช้ชื่อว่า 'ไทยพื้นที่รักสันติ' หรือ 'ทพส.' ได้แจกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาคัดค้านการกระทำของสหพันธ์นิสิต นักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี (PerMAS) หรือกลุ่มเปอร์มาส กับเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพหรือ คปส.ที่ได้คัดค้านการที่กองทัพภาคที่ 4 ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกออกประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ตำบลบางเขาและตำบลท่ากำชำ ในเขตอำเภอหนองจิก ปัตตานี นำอาวุธ รถ และเรือไปขึ้นทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ภายในเวลา 7 วันเนื่องจากทั้งสองกลุ่มเห็นว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน 

การออกมาตรการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเพื่อติดตามตัวผู้ก่อเหตุร้ายที่ทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไป 2 และบาดเจ็บอีก 4 

แถลงการณ์ของกลุ่มไทยพื้นที่รักสันติ หรือ ทพส. ระบุว่า กลุ่มซึ่งเป็นทั้งพุทธและมุสลิมในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบโดยตรงต้องการให้ข้อเท็จจริงจาก 'คนพื้นที่จริง' สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ยังคงใช้กฎอัยการศึกต่อไปจนกว่าจะได้ตัวผู้ก่อเหตุร้าย 

กลุ่มคนพุทธประท้วงเปอร์มาส-มอ.ปัตตานี-ปาตานี

(กลุ่ม 'คนพุทธ' นำจดหมายไปอ่านต่อหน้า ผศ.ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รักษาการณ์รองอธิการบดี มอ.ปัตตานี )

แถลงการณ์ยังบอกอีกว่ากลุ่มได้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มเปอร์มาส และ คปส.พบว่าทั้งสองกลุ่มเคลื่อนไหว "สร้างความไม่สงบ มีเจตนาชัดเจน ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ติดตามผู้ก่อเหตุร้าย” พร้อมกับให้ข้อมูลว่า การที่ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับได้ได้ให้การว่าผู้ร่วมก่อเหตุยังคงหลบหนีอยู่ในพื้นที่ ทำให้การประกาศเขตควบคุมถือเป็นมาตรการสำคัญที่ประชาชนในพื้นที่ต่างให้ความร่วมมือเพราะเห็นตรงกันว่า 'ทหารกวาดบ้านให้เรา' แถลงการณ์ยืนยันว่า วิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนดังที่เปอร์มาส และ คปส. กล่าวอ้างแต่อย่างใด 

“ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่กลุ่ม ทพส.ได้ติดตามการทำงานของกลุ่มเปอร์มาส และ คปส.ออกแถลงการณ์หรือจดหมาย หรือไปทำกิจกรรมในพื้นที่ล้วนแล้วเป็นการสร้างความคิดต่อต้านรัฐ สร้างเงื่อนไขขัดขวางการสร้างสันติสุขในพื้นที่ โดยอ้างความเห็นของพวกเราคนในพื้นที่ ทพส.จึงขอให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ตรวจสอบและกวดขันไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ออกไปสร้างความเสียหายต่อชุมชนคนในพื้นที่ที่ต้องการสร้างความสันติสุข” 

ในการอ่านแถลงการณ์ นายพงษ์พันธ์ จันทร์เล็กยังระบุจำเพาะเจาะจงมากไปกว่าแถลงการณ์ฉบับแจก โดยเอ่ยอ้างถึงข้อเรียกร้อง 5 ประการ กล่าวคือ นอกจากสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการออกมาตรการดังที่ประกาศไว้แล้ว ยังมีการตั้งคำถามกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ “สถาบันไม่ควรอนุญาติให้ นศ.สร้างความแตกแยก โดยเฉพาะการใช้คำว่าประชาชนไทยและประชาชนปาตานี หรือคำว่าอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปาตานี กลุ่มเราไม่เห็นด้วยเพราะตรงนี้ประเทศไทย การใช้คำว่าอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปาตานี ทุกคนที่มาเจ็บปวดมาก เพราะที่นี่ประเทศไทย”  

ถัดมาตัวแทนของกลุ่มยังระบุอีกว่า กลุ่มยืนยันว่าการบังคับใช้กฎหมายหนนี้ไม่มีการละเมิดสิทธิ “แต่การทำผิดกฎหมาย ไม่เคารพกฎหมายไทยถือว่าเป็นขบถ ที่นี่ประเทศไทย ต้องเคารพกฎหมายไทย ถ้าไม่เคารพกฎหมายก็ถือว่าเป็นขบถ การบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่เป็นการละเมิดสิทธิ แต่การทำผิดกฎหมายและไม่เคารพกฎหมายไทยถือว่าเป็นขบถ ที่ถือว่าเป็นปาตานีถือว่าเป็นขบถแล้ว” 

นายพงษ์พันธ์ ตัวแทนกลุ่มยังเรียกร้องให้ มอ.ปัตตานี ชี้แจงถึงแถลงการณ์ของเปอร์มาสโดยบอกว่าบิดเบือนข้อเท็จจริงในข้อความที่กล่าวอ้างว่ารัฐละเมิดสิทธิ และการอ้างสิทธิโดยการใช้คำว่า 'อธิปไตยเหนือดินแดนปาตานี' และสรุปว่าขอให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายพิเศษอย่างต่อเนื่องและผ่อนคลายได้เมื่อเหตุการณ์ปกติลงแล้ว 

กลุ่มคนพุทธประท้วงเปอร์มาส-มอ.ปัตตานี-ปาตานี

“ไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งเดียวที่ออกกฎอัยการศึกในพื้นที่ที่ล่อแหลมไม่ปลอดภัย จะต้องออกต่อไปจนกว่าเหตุการณ์จะปกติค่อยผ่อนคลาย” กลุ่มได้นำจดหมายไปอ่านต่อหน้า ผศ.ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รักษาการณ์รองอธิการบดี มอ.ปัตตานี ซึ่งยืนยันว่ามหาวิทยาลัยสนับสนุนการกระทำตามกฎหมายและจะรับเรื่องไว้พิจารณาต่อไป

นายพงษ์พันธ์ยืนยันว่าผู้ร่วมแสดงตัวในนามกลุ่มไทยพื้นที่รักสันติในวันนี้ล้วนแต่เป็นแกนนำที่มาจากพื้นที่ 4 จังหวัดที่รวมไปถึงสงขลา กลุ่มมีสมาชิกอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้มาด้วย ในการรวมกลุ่มออกแถลงการณ์หนนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ชื่อกลุ่มไทยพื้นที่รักสันติ ก่อนหน้านี้สมาชิกในกลุ่มส่วนหนึ่งได้ใช้ชื่อกลุ่มรวมไทยพลังสันติ รวมตัวกันต่อต้านการรณรงค์เรื่องการให้เด็กนักเรียนหญิงในโรงเรียนอนุบาลปัตตานีได้สวมผ้าคลุมศรีษะมาก่อนแล้ว

ส่วนแถลงการณ์ที่ถือว่าเป็นต้นตอของการออกมาแสดงพลังคัดค้านของกลุ่มไทยพื้นที่รักสันติหนนี้คาดว่าเป็นแถลงการณ์ของกลุ่มเปอร์มาสที่ออกเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ออกเนื่องในวันสันติภาพสากล ใจความท่อนหนึ่งของแถลงการณ์กล่าวว่า “สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้ประชาชนปาตานีมีสิทธิทางการเมืองในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ด้วยสภาพความขัดแย้งทางการเมืองว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปาตานีนั้น ประชาชนชาวปาตานีตกอยู่ภายใต้สภาพความหวาดกลัวจากปฏิบัติการทางอาวุธของทั้งสองฝ่าย ตราบใดที่แนวนโยบายการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองนี้เป็นไปตามแนวคิดความมั่นคงและนำโดยนโยบายการทหาร....” แถลงการณ์ฉบับนั้นเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึก ขอให้พรรคการเมืองผลักดันให้การเจรจาสันติภาพปาตานีเป็นวาระแห่งชาติ 

เปอร์มาสและ คปส.เป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมในพื้นที่เรื่อยมา ล่าสุดกลุ่มเปอร์มาสได้จัดเสวนาในหัวข้อ ปาตานี: สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเองเพื่อสันติภาพ นอกจากนั้นยังได้จัดเสวนาที่นำตัวแทนพรรคการเมืองไปร่วมกันพูดคุยเรื่อง “สัญญาณการเลือกตั้ง ทิศทางการเมืองไทยต่ออนาคตสันติภาพปาตานี” เมื่อ 15 ก.ย. อย่างไรก็ตาม กลุ่มมักจัดกิจกรรมรณรงค์ในหลายประเด็นที่สวนทางกับมาตรการของเจ้าหน้าที่ เช่นเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ได้นำสมาชิกกลุ่มจำนวนหนึ่งเดินทางไปยังตำบลบางเขาซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศใช้มาตรการควบคุมเต็มขั้นตามกฎอัยการศึกและพูดคุยกับชาวบ้านพร้อมทั้งละหมาดเพื่อขอความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ 

สำหรับมาตรการดังกล่าวได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนที่แสดงความเป็นห่วงว่าจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ก็สร้างความวิตกจนกระทบต่อวิถีการทำมาหากิน นักวิชาการบางรายถึงกับเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกโดยเปิดเผย กลุ่มมาราปาตานีก็ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกเช่นเดียวกัน 

อนึ่ง คำว่า 'ปาตานี' เป็นคำที่เคยใช้เรียกพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้และดินแดนตอนเหนือของมาเลเซียซึ่งนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่ออัตลักษณ์มลายูมุสลิมได้นำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างมากว่า โดยคนไทยจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นการกีดกันคนอื่นๆ แม้ว่าจะได้รับคำอธิบายว่าเป็นเพียงเรื่องของการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมก็ตาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: