ไม่พบผลการค้นหา
การเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ถูกตั้งคำถามจากภาคประชาสังคม-นักวิชาการ ทำให้เกิดความเคลือบแคลงถึงการเสียชีวิตของ 'อับดุลเลาะ อีซอมูซอ' ขณะอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่

จากกรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ช็อกหมดสติ ขณะถูกควบคุมตัวภายใน 'หน่วยซักถาม' หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ก่อนมีอาการสาหัส ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปัตตานี เมื่อวันที่ 21 ก.ค. และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ท่ามกลางความเคลือบแคลงและสงสัยจากหลายฝ่ายถึงสาเหตุการเสียชีวิต โดยเฉพาะประเด็นการถูกกระทำระหว่างถูกควบคุมตัว 


ปอดอักเสบติดเชื้อ

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ออกแถลงการณ์การเสียชีวิตว่า อับดุลเลาะมีอาการคงที่มาโดยตลอดและเริ่มมีอาการทรุดลงประมาณ 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยพบว่ามีการอักเสบของปอดอย่างรุนแรง คาดว่าเกิดจากการติดเชื้อ มีภาวะผิดปกติของการแลกเปลี่ยนก๊าซ ทางทีมรักษาพยาบาลได้มีการปรับตั้งเครื่องช่วยหายใจและให้ออกซิเจนที่มีความเข้มข้นสูงมาตลอด อีกทั้งปรับการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อครอบคลุมเชื้อที่ก่อโรค

กระทั่งเมื่อคืนนี้ (24 ส.ค.) อาการของผู้ป่วยเริ่มทรุดลง ด้วยภาวะความดันโลหิตต่ำ และมีการแลกเปลี่ยนก๊าซที่ผิดปกติมากขึ้น ทางทีมรักษาได้ให้ยาควบคุมความดันโลหิตในขนาดสูง แต่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาพยาบาล ยังคงมีความดันโลหิตต่ำลง มีความผิดปกติของการแลกเปลี่ยนก๊าซและมีความเป็นกรดในเลือดสูงขึ้น

โรงพยาบาลระบุว่า ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างสงบในเวลา 4.03 น. ของวันที่ 25 ส.ค สรุปสาเหตุของการเสียชีวิตคือ เกิดจากปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง (severe pneumonia ) และมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (septic shock)

AFP-งานศพอับดุลเลาะ อีซอมูซอ-ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงเสียชีวิตขณะถุกคุมขัง- Abdulloh Esormusor-3.JPG

(ภาพจากบรรยากาศงานศพของอับดุลเลาะ 25 ส.ค. ที่มัสยิดฮูแตปาเซ ตะบิ้ง สายบุรี ปัตตานี -AFP)


แถลงสับสน - กังวลถูกแทรกแซง

ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งคำถามถึงสาเหตุการตายของอับดุลเลาะจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยระบุว่า การทำความเข้าใจสาเหตุการเสียชีวิตของ อับดุลเลาะจำเป็นต้องไล่เรียงข้อมูลตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขาถูกนำตัวจากศูนย์ซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 62 ออกมาส่งที่โรงพยาบาล

ดังนั้นการอ้างแถลงการณ์การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ ของ รพ.สงขลานครินทร์ เมื่อเย็นวันที่ 25 สิงหาคม 2562 ที่ระบุว่า “สรุปสาเหตุการเสียชีวิต คือ เกิดจากปอดติดเชื้ออย่างรุนแรง (severe pneumonia) และมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (septic shock)” แต่เพียงอย่างเดียวดังที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน จึงเป็นท่าทีที่เลวร้ายมากและเป็นเจตนาที่จะทำให้เรื่องนี้เงียบหาย และขัดขวางกระบวนการค้นหาความจริงที่ควรจะมีต่อไปเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายอับดุลเลาะในค่ายทหาร

น่าสนใจว่าในหนังสือรับรองการตายที่ทาง รพ.สงขลานครินทร์ออกให้แก่ครอบครัวในช่วงสายวันที่ 25 สิงหา ระบุโรคที่เป็นสาเหตุการตายว่า ได้แก่ Hypoxic ischedic encephalopathy (HIE) โดยให้ระบุในใบมรณบัตรว่า “สมองขาดออกซิเจนและขาดเลือด” ซึ่งระบุสาเหตุการตายคนละแบบกับในแถลงการณ์

ทั้งนี้ อันที่จริงแล้วในแถลงการณ์ของ รพ.สงขลานครินทร์ที่ออกมาในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ควรระบุให้ชัดเจนถึงสาเหตุแห่งการเสียชีวิตที่มีความต่อเนื่องกัน เพื่อป้องกันความสับสน โดยควรระบุว่า “อับดุลเลาะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยอาการสมองขาดออกซิเจน หลังจากนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมาระยะหนึ่ง ได้มีภาวะแทรกซ้อนในการติดเชื้อในปอด และเชื้อลุกลามจนเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือด และทำให้เสียชีวิต”

ส่วนตัวนั้นอยากถามทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ว่าทำไมจึงออกแถลงการณ์แบบตัดตอนเรื่องสาเหตุการตายเช่นนี้ ทั้งยังไม่เอาข้อมูลจากหนังสือรับรองการตายมาใส่ในแถลงการณ์ด้วย อดสงสัยไม่ได้ว่ามีหน่วยงานใดมาตรวจหรือเซ็นเซอร์แถลงการณ์ก่อนเผยแพร่หรือไม่

อนึ่ง แถลงการณ์ในลักษณะนี้เอื้อต่อการสร้างความชอบธรรมให้กับทางกองทัพและรัฐบาลอย่างมากในที่จะทำให้เรื่องนี้เงียบหาย และทำให้หนทางในการค้นหาความจริง เช่น การตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เป็นกลางในระดับประเทศ หรือการทำให้เรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ ฯลฯ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

12.jpg

(ภาพจากเฟซบุ๊ก Chalita Bundhuwong)


ต้องมีคนรับผิดชอบ

ดร.ชลิตา กล่าวกับวอยซ์ออนไลน์ว่า หลังจากนี้ต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อพิจารณาแนวทางที่เป็นไปได้ในการค้นหาความรับผิดชอบจากหน่วยงานรัฐและตัวผู้กระทำความผิด เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ใน 4 แนวทาง

1.การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ในแง่ของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เหตุใดจึงปล่อยให้ผู้ที่อยู่ในความดูแล มีสภาพหมดสติ มีเลือดออกในสมอง จนนำไปสู่การเสียชีวิต เพื่อค้นหาความรับผิดชอบจากรัฐซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะมี

2.พิจารณายื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ

3.ยื่นเรื่องต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษากรณีการเสียชีวิต

4.ยื่นเรื่องต่อกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมถึงพูดคุยให้รับทราบถึงปัญหาและสถานการณ์ที่เป็นอยู่

“สิ่งสำคัญเราอยากให้มีคณะกรรมการที่พ้นไปจากอำนาจของ กอ.รมน. และกองทัพภาคที่ 4 ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ ค้นหาสาเหตุการตายที่ชัดเจนและได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง”

ดร.ชลิตา กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ และไม่เงียบหายไปเหมือนเช่นกรณีที่ผ่านมาๆ

“เราจะทำทุกทางเพื่อให้ความจริงมันออกมา และต้องมีคนรับผิดชอบในเรื่องนี้ จะไม่ปล่อยให้เงียบแน่นอน”

เธอบอกต่อว่า ที่ผ่านมาการเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัย อาจมีการชดใช้ค่าเสียหายจากหน่วยงาน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน อย่างไรก็ตามประเด็นหลัก คือ ‘ไม่มีตัวผู้รับผิดชอบ’ จนนำไปสู่การเกิดเหตุซ้ำอยู่เรื่อยๆ

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าภาครัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ โดยผู้เกี่ยวข้องทั้งโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ออกมาชี้แจงสาเหตุการเสียชีวิตแล้วว่าเกิดจากภาวะการติดเชื้อ

ส่วนข้อสงสัยจากใบแจ้งการตาย ที่ รพ.สงขลานครินทร์ออกให้กับครอบครัวเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากสมองขาดออกซิเจนและขาดเลือด ซึ่งสวนทางกับการชี้แจงก่อนหน้านี้นั้น พล.อ.ประวิตรย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า "มันสวนทางกันยังไง เพราะเขาบอกว่าติดเชื้อ"


AFP-งานศพอับดุลเลาะ อีซอมูซอ-ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงเสียชีวิตขณะถุกคุมขัง- Abdulloh Esormusor-4.jpg
  • ครอบครัวของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เคลื่อนย้ายร่างของเขาจาก รพ.สงขลานครินทร์ - AFP

ขณะที่ นายแพทย์กิ๊ฟลัน ดอเลาะ จิตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า สิ่งที่ พล.อ.ประวิตร พูดนั้นถูก ว่าคนไข้เสียชีวิตด้วยติดเชื้อในกระแสเลือด แต่นั้นเป็นปลายเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังแล้ว ตรงนั้นไม่ใช่จุดที่ประชาชนสงสัย ที่ประชาชนสงสัยคือจุดเริ่มต้นต่างหากว่า ผู้ป่วยมีภาวะสมองจากออกซิเจนได้อย่างไร และจากอะไร

“ประชาชนสนใจตรงต้นเหตุไม่ได้สนใจตรงปลายเหตุครับ เพราะว่าถ้าเราแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ ปลายเหตุมันก็ไม่น่าจะเกิดครับ” นายแพทย์กิ๊ฟลันระบุ


ตั้งคำถามต่อยุทธศาสตร์

นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ตั้งคำถามถึงแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นความมั่นคง ระบุ 5 แนวคิดสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ ไม่พบเนื้อหาเกี่ยวก��บการพูดคุยสันติภาพ หรือการเจรจาต่อรองทางการเมืองใด และที่น่าสนใจคือ มุ่งสู่การทำลายองค์กรและแนวร่วมของข้าศึก การสกัด การบ่มเพาะเพื่อจัดตั้งมวลชนสนับสนุนของข้าศึกในอนาคต

เนื้อหาทั้งหมดระบุผ่านเฟซบุ๊กดังนี้

"ดูนี่ครับ แผนแม่บทด้านความมั่นคงที่ปั้นขึ้นมาตาม ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของ คสช. เฉพาะที่ระบุถึง 5 แนวคิดสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ นอกจากจะไม่เห็นเนื้อหาเกี่ยวกับ การพูดคุยสันติภาพ การพูดคุยสันติสุข หรือการเจรจาต่อรองทางการเมืองใด ๆ แล้ว ยังเห็นทิศทางที่มุ่งสู่ การทำลาย องค์กรและแนวร่วมของ ข้าศึก เป็นด้านหลัก รวมทั้งให้ความสำคัญกับ ความร่วมมือ กับองค์กรต่างประเทศและภาคประชาชน

ที่น่าสนใจคือมุ่งไปที่การสกัด การบ่มเพาะ เพื่อจัดตั้งมวลชนสนับสนุนของข้าศึกในอนาคต นี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมบรรดาปอเนาะ/โรงเรียนเอกชนจึงถูกจับตาเกาะติดอย่างมากในระยะหลัง ทั้ง ๆ ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของ อัตลักษณ์มลายู แต่ก็มองไม่เห็นว่า ศูนย์ซักถาม ของหน่วยงานความมั่นคงนั่นแหละที่กลายเป็น แหล่งบ่มเพาะ และ ที่มา ของเรื่องเล่าความอยุติธรรมที่หล่อเลี้ยงความขัดแย้งให้ดำรงอยู่จนยากที่จะจินตนาการหาทางออกทางการเมืองใด ๆ"

ใครสนใจอ่านฉบับเต็ม เชิญที่นี่ครับ



บันทึกแบบเต็มหน้าจอ 2682562 174441.jpg


ครอบครัว อับดุลเลาะ

(ภาพจากบรรยากาศงานศพของอับดุลเลาะ จาก ครอบครัว อับดุลเลาะ)