ในการจัดเสวนาเนื้อหาการเมืองเต็มรูปแบบในสามจังหวัดภาคใต้ซึ่งมีไม่บ่อยนักภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 'กลุ่มเปอร์มัส' หรือ สหพันธ์นิสิต นักศึกษา เยาวชน นักเรียนปาตานี (PerMAS) ที่จัดกิจกรรมในพื้นที่และถูกจับตาเสมอมา ได้เชิญตัวแทนพรรคการเมืองและว่าที่พรรคการเมืองให้เสนอวิสัยทัศน์การมองความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแนวทางการทำงานเพื่อคลี่คลายปัญหาภายใต้หัวข้อ “สัญญาณการเลือกตั้ง ทิศทางการเมืองไทยต่ออนาคตสันติภาพปาตานี” โดยตั้งประเด็นที่ท้าทายบรรยากาศการเมืองที่ยังไม่เปิดกว้างเต็มที่ว่า ระบบรัฐสภาจะตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการ “กำหนดชะตากรรมของตนเอง” ได้อย่างไร
เนื้อหาที่ผู้ร่วมเวทีเสวนาพูดดูจะล้อไปกับสภาพความเคลื่อนไหวในพื้นที่ ขณะที่ 'ฮาฟิส ยะโกะ' ประธานกลุ่มเปอร์มัส ระบุว่าการจัดงานหนนี้ก็เพื่อจะเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเมืองแก่ประชาชน เพราะเห็นว่าความขัดแย้งในพื้นที่เป็นปัญหาการเมือง ซึ่งไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการใช้กำลังหรืออาวุธ แม้ว่ากลุ่มเปอร์มัสจะถูกผลักให้กลายไปเป็นฝ่ายที่ยืนอยู่ข้างความรุนแรงโดยตลอด แต่กลุ่มก็ยืนยันเสมอมา จะรณรงค์เพื่อสันติภาพ
อีกด้านหนึ่ง 'สมบัติ บุญงามอนงค์' ที่ผู้จัดแนะนำตัวว่ากำลังพยายามก่อตั้งพรรคเกรียน บอกว่า การเข้าร่วมการเสวนาของเขาถูกจับตาและตามประกบ “ผมว่านี่เป็นรากฐาน พื้นที่ทางการเมืองที่หดแคบและไม่เปิดในระดับที่เพียงพอ ทำให้ความคิดไปออกในทางอื่น”
ขณะที่ 'อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์' จากพรรคประชาชาติ ชี้ให้เห็นว่ามีกลุ่มคนที่อยากได้อำนาจ แต่ด้วยการใช้กำลัง และยังมีผู้ที่ต้องการอำนาจ แต่ด้วยปลายปากกาจากประชาชน “ผมอยากจะฝากฝ่ายความมั่นคงว่าอย่าเอาคนสองกลุ่มนี้ไปรวมกันให้เป็นอันเดียว”
กุญแจสำคัญ 'ประชาธิปไตย-ความเข้าใจพหุวัฒนธรรม'
ตัวแทนพรรคการเมืองและว่าที่พรรคการเมืองกล่าวแทบจะเป็นเสียงเดียวกันถึงความสำคัญของบรรยากาศที่เปิดกว้างว่าจะมีผลต่อการแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ที่พวกเขาล้วนเห็นว่าเป็นปัญหาทางการเมือง สมบัติให้ความเห็นว่า “ผมตามเรื่องสามจังหวัดมายังไม่เห็นทางออก แต่เพราะบริบททางสังคมยังไม่เปิดให้คนทุ่มเถียงกันได้อย่างลุ่มลึกและกว้างขวาง ผมไม่เชื่อว่าไม่มีทางออก แต่ที่มองไม่เห็นก็เพราะคนที่จะทำทางออกได้ไม่มีพื้นที่ให้ถกเถียง”
'ปิยบุตร แสงกนกกุล' พรรคอนาคตใหม่ ยืนยันว่าการจะสร้างสันติภาพได้จะต้องลดเรื่องของการใช้กำลังและต้องเจรจาทางการเมือง ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้จะต้องมีเสรีภาพในการพูดและแสดงออก ให้ผู้คนสามารถถกเถียงกันได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่อาจตกผลึกได้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหนกันแน่ ดังนั้นปัญหาความขัดแย้งของในพื้นที่สามจังหวัดใต้จึงเห็นได้ชัดว่าพัวพันกับภาพใหญ่ของประเทศ
“ถ้าไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไปต่อไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยรับประกันว่าจะมีสนามให้ทุกคนอยู่ในนี้และใช้เสรีภาพในการพูดได้เต็มที่ คือให้ทุกฝ่ายไปจนถึงฝ่ายเอกราช และทุกแนวเข้ามาอยู่ในสนามนี้โดยที่มีหลักประกันว่าสามารถพูดได้โดยไม่มีเงื่อนไข ถ้าพูดโดยมีเงื่อนไขก็จะไม่ได้ทางออกจริงๆ อีก สนามนี้จะเกิดได้ต้องเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลทหารไม่มีวันอนุญาตให้ทำแบบนี้ ดังนั้นประเทศต้องกลับไปสู่ระบบประชาธิปไตย ให้คนได้แสดงความเห็นโดยปราศจากเงื่อนไข”
อารีเพ็ญยังพูดถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจกับสังคมและให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นพหุวัฒนธรรม เขาเชื่อว่าถ้าคนไทยเข้าใจเรื่องของความหลากหลายพหุวัฒนธรรม การแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้จะเป็นไปได้ เขาโยงใยความสำคัญของเรื่องนี้เข้ากับการแก้ปัญหาในพื้นที่โดยยืนยันว่าการแก้ปัญหาใดๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคนไทยด้วย การปกครองในลักษณะพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดใต้นั้น เขายังมองไม่เห็นว่าจะมีหนทางเกิดขึ้นได้ในช่วงสิบปีข้างหน้า ทั้งนี้ เนื่องจากคนไทยยังไม่สนใจ
“ในสามจังหวัดมีคนเชื้อสายมลายู 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นคนเชื้อสายไทย ถ้าคนไทยจำนวนนี้ยังไม่เข้าใจคนในพื้นที่ คนไทยที่เหลือของประเทศก็จะไม่เข้าใจ ดังนั้นเราจะทำแบบปกครองพิเศษคงไม่ได้ จะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ผมก็บอกไม่ได้ แต่จะต้องให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าใจในเรื่องพหุวัฒนธรรม”
อารีเพ็ญอธิบายว่า ในพรรคกำลังมีการหารือกันถึงความจำเป็นที่ควรจะต้องมีกฎหมายด้านพหุวัฒนธรรมเพื่อปกป้องผู้คนที่ต่างกันในเรื่องความเชื่อ วัฒนธรรมและเผ่าพันธุ์ ซึ่งจะช่วยทำให้คนในประเทศรู้และเข้าใจปัญหา ขณะนี้สังคมรับฟังแต่เหตุผลและแนวทางด้านความมั่นคงเท่านั้น ทำให้คิดไปว่ากลุ่มการเมืองบางกลุ่มต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่สำหรับกลุ่มที่ต่อสู้ด้วยกำลังเอง เขาก็บอกว่า
“การที่ฝ่ายต่อสู้ด้วยอาวุธจะต่อสู้โดยลำพังและไม่มีประชาชนช่วยนั้นไม่มีทางได้ ประชาชนต้องเอาด้วย”
อย่าติดกับดัก 'ชาตินิยม' - หยุดสร้างความเกลียดชัง
ส่วนหนึ่งของการพูดคุยพูดเรื่องแก่นของปัญหานี้ สมบัติ บุญงามอนงค์ชี้ว่า การที่คู่ความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างใช้แนวคิดชาตินิยมทำให้ทั้งคู่ติดกับไม่พบทางออก “ผมเชื่อว่าเราล้วนเป็นพี่น้องกัน มันสอดคล้องกับปัญหาสังคมในปัจจุบันมากกว่าวิธีคิดแบบเดิมๆ แบบชาตินิยม เพราะสังคมวันนี้กลุ่มเดี่ยวๆ อยู่รอดไม่ได้ มันต้องมีความหลากหลาย และเราต้องรักษาความหลากหลายทางสังคมเพื่อเกื้อหนุนกัน” ในสถานการณ์ที่สู้กันด้วยความคิดชาตินิยมเช่นนี้มีการสร้างความเกลียดชัง
“วิธีการแบบนี้มีราคา ถ้าคุณสร้างความเกลียดชังทางการเมืองมันมีราคาที่ต้องจ่ายและแพง ต้องเลิกวิธีการแบบนี้ สู้กันด้วยปัญญา”
อีกหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์' แห่งพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ความขัดแย้งภาคใต้นั้นมีอาการแบบ 'ไฟสุมขอน' ที่จริงความรุนแรงเคยลดลงจนเกือบจะหมดไปโดยเฉพาะในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ความรุนแรงลดลงเหลือเพียงปีหนึ่ง 8 ครั้ง แต่กลับมาปะทุอีกหลังจากนั้นเพราะการใช้มาตรการที่รุนแรง เช่น อุ้มฆ่าและตัดตอน
“ที่จะบอกคือ การใช้ความรุนแรงไม่สามารถดับไฟสุมขอนได้ มีแต่จะทำให้หนักกว่าเดิม”
'อาเต็ฟ โซ๊ะโก' นักกิจกรรมจากกลุ่มขบวนการกำหนดชะตากรรมตนเอง (ปาตานี) ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่ระบบรัฐสภาจะเป็นทางเลือกสำหรับกลุ่มที่ต้องการต่อสู้เพื่อการแยกตัว เขาชี้ว่าเคยมีตัวแทนของพื้นที่ก้าวไปสู่ตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงมาแล้ว เช่น เป็นถึงประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้คนจำนวนหนึ่งหมดหวังและถอยไปสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธ
แต่อาเต็ฟก็บอกว่า เขาอยากสื่อสารไปยังฝ่ายที่ใช้กำลังในการต่อสู้ว่า “จะต้องทบทวนว่าในโลกสมัยใหม่การใช้กำลังมันจะมีความเป็นไปได้แค่ไหน หรือว่าจะเป็นได้แต่เพียงเทคนิคเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมือง” พร้อมทั้งชี้ว่าแม้แต่แคว้นคาตาลันหรือกาตาลุญญาของสเปนที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระก็ยังไม่ประสบผล เนื่องจากว่าการที่จะมีรัฐเกิดใหม่ได้ในโลกยุคปัจจุบันจะต้องได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งจากคู่ต่อสู้ต้องยินยอม
แต่อาเต็ฟก็ชี้ว่าจนถึงขณะนี้สังคมไทยก็ยังไม่ได้เห็นกระบวนการสันติภาพที่แท้จริงเพราะที่มีอยู่ยังถือว่าไม่ใช่ เขาชี้ว่ากระบวนการอันนี้จะเกิดขึ้นได้จริงก็ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น และกลุ่มที่รณรงค์เพื่อการกำหนดชะตากรรมตนเองในพื้นที่สามจังหวัดใต้ควรจะร่วมมือกับฝ่ายประชาธิปไตย เรื่องนี้มีรูปแบบของการรณรงค์ให้ศึกษาได้หลากหลายในต่างประเทศ
เสนอเปิดพื้นที่ 'สนามการพูดคุย' หนุน 'กระจายอำนาจ'
ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ ปิยบุตร กล่าวถึงโมเดลในการแก้ปัญหา ซึ่งเขายืนยันว่ามีหลายอย่างที่สามารถทำได้แม้จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่ต้องเริ่มที่การมีเวทีหรือ 'สนามการพูดคุย' ที่ทุกฝ่ายพูดแล้วปลอดภัย ถัดมา ทั้งรัฐและขบวนการแบ่งแยกดินแดนต้องหยุดการใช้กำลัง ประเทศต้องมีการเลือกตั้ง กลับสู่ระบบประชาธิปไตย เพราะการอยู่ใต้คสช. ไม่มีวันทำได้
สำหรับพรรคอนาคตใหม่เห็นว่า ในระยะกลางนั้น สิ่งที่จะทำได้คือการกระจายอำนาจ ไม่ว่าในรูปแบบที่มีอยู่แล้วและในรูปแบบการปกครองพิเศษที่สามารถทำได้ตามกฎหมายไทย เช่น ในแบบกรุงเทพมหานครหรือพัทยา ออกแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ใช้อำนาจในการจัดการงบประมาณ
“รัฐไทยเป็นราชอาณาจักรแบบกระจายอำนาจ เป็นรัฐเดี่ยว แต่เป็นรัฐแบบกระจายอำนาจ อำนาจในการบริหารราชการในพื้นที่เป็นของพื้นที่ แต่ต้องตั้งโต๊ะคุยกัน แต่ต้องสร้างสนามนี้ก่อน”
เขาชี้ว่า ในเรื่องเครื่องมือดูแลความมั่นคงต้องทำใหม่ให้มีสมดุล สร้างความมั่นคงในยามวิกฤติ แต่ให้หลักประกันเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล ส่วนในระยะยาวต้องลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ สร้างการยอมรับในความหลากหลาย มีการเรียนรู้และยอมรับประวัติศาตร์ท้องถิ่น เขาระบุว่าทุกคนควรจะต้องทำให้การเลือกตั้งหนนี้เป็นโอกาสในการเปิดพื้นที่ของการแสดงออก และส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการสืบทอดอำนาจของ คสช
กรอบประชาธิปไตยแบบไทย 'ไม่เจรจา' แต่ว่า 'พูดคุย'
พรรคประชาธิปัตย์ดูจะมีข้อเสนอที่แนบแน่นกับความเป็นจริง จุรินทร์ยืนยันว่า การแก้ปัญหาต้องใช้แนวทางที่เขาเรียกว่า 'การพัฒนานำปืน' ควบคู่ไปกับการพูดคุยสันติสุข โดยเขากล่าวว่าประเทศไทยจะต้องอยู่ภายในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และระบบนี้มีทางออกให้กับพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ประชาชนสามารถเลือกตัวแทนหรือไม่ก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง เข้าไปใช้อำนาจการเมืองในกรอบของรัฐธรรมนูญ
จุรินทร์เองก็เป็นอีกรายที่เชื่อว่าในพื้นที่นี้ใช้รูปแบบการปกครองแบบพิเศษชนิดที่ทำที่อื่นในประเทศไทยได้ อีกด้านหนึ่งต้องมีการพูดคุยกันในระหว่างกลุ่มถืออาวุธกับผู้ถืออำนาจรัฐ แต่ “ไม่ใช่แบบรัฐต่อรัฐ ทำไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ ผมจึงไม่ใช่คำว่าเจรจา ผมใช้คำว่าการพูดคุย” เขาเห็นว่าในระหว่างที่มีการพูดคุยที่ผ่านมาความรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้เข้าร่วมการเสวนาอีกราย 'พิมพ์สิริ เพ็ชรน้ำรอบ' จากกลุ่มการเมืองพรรคสามัญชน ชี้ว่า เรื่องของการ 'กำหนดชะตากรรมตัวเอง' นั้นมีกำหนดในปฏิญญาสากลและกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งไทยก็เป็นสมาชิกด้วย เจ้าของพื้นที่จึงควรจะมีสิทธิกำหนดอนาคตตัวเองและลูกหลาน และการกำหนดชะตากรรมของตนเองเป็นเรื่องที่ควรจะต้องให้คนในพื้นที่ได้ออกความเห็น แต่การพูดคุยจะไปจบที่ไหนเป็นเรื่องที่แล้วแต่ประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: