สำหรับกรณีล่าสุดของ ‘นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่ถูกผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับแกนนำที่ถูกควบคุมตัวก่อนหน้านี้ซัดทอดว่าเป็นคนที่คอยช่วยเหลือสนับสนุนการก่อเหตุในพื้นที่มาแล้วหลายครั้ง
นายอับดุลเลาะ หมดสติระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2562 หลังรักษาตัวในห้องไอซียูถึง 35 วัน ด้านญาติประกอบพิธีทางศาสนาโดยไม่ส่งชันสูตร แม้จะยังติดใจสงสัยถึงเหตุที่ทำให้เขาหมดสติและสมองบวม
ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2562 เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนายอับดุลเลาะจากบ้านพักใน ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี หลังจากนั้นนายอับดุลเลาะถูกส่งตัวไปที่หน่วยซักถามเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2562 ภรรยาของนายอับดุลเลาะ ได้รับแจ้งว่านายอับดุลเลาะถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลปัตตานี เนื่องจาก 'หมดสติ' ในห้องควบคุมตัว
25 ส.ค. 2562 เวลา 16.00 น. ภายหลังการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้ว ด้วยการให้คณะกรรมการอิสระด้านสิทธิมนุษยชนเข้าตรวจสอบ รวมถึงให้แพทย์จากโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และแพทย์จากโรงพยาบาลปัตตานี มาดำเนินการตรวจ ซึ่งรายงานแจ้งตรงกันว่าการหมดสติของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ไม่มีการบ่งชี้ว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่ และผลการตรวจสอบทางร่างกายปกติ ไม่มีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย ทั้งจากภายในและภายนอก ไม่พบน้ำในช่องปอดและไม่พบบาดแผลใดๆ ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตพบว่า "ติดเชื้อในปอด"
ขณะที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ระบุโรคที่เป็นสาเหตุการตายของ 'อับดุลเลาะ อีซอมูซอ' คือ Hypoxic ischedic encephalopathy (HIE) และระบุในใบมรณบัตรว่า “สมองขาดออกซิเจนและขาดเลือด” ซึ่งระบุสาเหตุการตาย 'คนละแบบ' กับในแถลงการณ์
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ครอบครัว อับดุลเลาะ อีซอมูซอ
การบาดเจ็บ และเสียชีวิตหลังจากถูกควบคุมตัว ไม่ได้มีแค่กรณีของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เท่านั้น
จากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน จังหวัดสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย ประจำปี 2561 ของ ‘กลุ่มด้วยใจ’ เปิดเผยข้อมูลการซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ที่ทางกลุ่มได้เก็บรวบรวมข้อมูลผู้เสียหายจากการถูกทรมาน ตั้งแต่ปี 2551 ข้อมูลในแต่ละปีรวบรวมจากกรณีที่กลุ่มด้วยใจสัมภาษณ์โดยตรงกับผู้เสียหายที่ถูกกระทำ พบว่า ในปี 2554 พบว่ามีจำนวน 46 คน ปี 2556 จำนวน 10 คน ปี 2557 จำนวน 15 คน ปี 2558 จำนวน 16 คน ปี 2559 จำนวน 11 คน ปี 2560 จำนวน 4 คน และในปี 2561 จำนวน 21 คน
ทั้งนี้ กลุ่มด้วยใจตั้งข้อสังเกตว่าในปี 2560 มีจำนวนผู้ที่ร้องเรียนเรื่องทรมานน้อย เนื่องจากผู้เสียหายถูกข่มขู่ไม่ให้ร้องเรียน (ข้อมูล ปี 2555 ไม่ปรากฏในรายงาน)
จากรายงานยังเผยให้เห็นถึงวิธีการที่เจ้าหน้าที่ใช้ทรมานผู้ถูกควบคุมตัว ในปี 2561 ไม่ว่าจะเป็นการทรมานทางด้านร่างกาย เช่น การกรอกน้ำใส่ปากให้หายใจไม่ทัน เตะบริเวณหน้าอก หน้าท้อง ตีเข่า ตีศอก รวมไปถึงการทรมานที่อวัยวะเพศ เช่น การดีดลูกอัณฑะ เตะบริเวณลูกอัณฑะ ไม่ให้ทานอาหาร และการทรมานด้านจิตใจและทำให้เกิดความอับอาย เช่น ขู่ว่าจะทำร้ายครอบครัว ขู่จะให้ 'กินขี้' และ 'น้ำฉี่' บังคับให้เปลือยกายอยู่ในห้องแอร์ที่มีอากาศหนาว เป็นต้น
ด้าน 'มูลนิธิผสานวัฒนธรรม' องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีบทบาทในการทำงานเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า จำนวนของผู้ที่ถูกซ้อมทรมาน ตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในปี 2556 เท่าที่ทางมูลนิธิฯ ทราบ จากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายโดยตรงทั้งหมดมี 250 ราย แต่จากการร้องเรียนของญาติมีจำนวนมากกว่า และบางกรณีก็ไม่สามารถติดตามสัมภาษณ์ผู้เสียหายได้ เนื่องจากผู้เสียหายกลัวที่จะให้ข้อมูล กลัวที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถูกฝากขังในเรือนจำและถูกดำเนินคดี
นอกจากนี้ มีผู้ถูกควบคุมตัวเป็นจำนวนมากที่ถูกปล่อยตัวไปโดยไม่ถูกดำเนินคดี ซึ่งทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เชื่อว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวด้วยอำนาจกฎอัยการศึกมากกว่า 6,000 ราย
"บางคนถูกจับกุมซ้ำหลายครั้งและมีประสบการณ์การถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจระหว่างการถูกควบคุมตัวซ้ำอีกด้วย"
เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังมีผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ใน 3 ที่ คือ ค่ายอิงคยุทธบริหาร ค่ายวังพญา และค่ายตันหยง
สำหรับกรณีของผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีการเผยแพร่สู่สาธารณะ เท่าที่พบขณะนี้ ได้แก่ กรณีของ นายมะสุกรี สาและ อายุ 36 ปี ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นลมหมดสติจนลื่นล้มในห้องน้ำภายในศูนย์ซักถามหน่วยเฉพาะกิจ ได้รับบาดเจ็บสาหัส และปัจจุบัน นายมะสุกรีแขนขาอ่อนแรงเคลื่อนที่ไม่ได้ ต้องได้รับกายภาพบำบัดและต้องได้รับการช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
ทั้งนี้ นายมะสุกรีถูกเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2562 และถูกควบคุมตัวไว้ในศูนย์ซักถามหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี
ต่อมา เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2562 เจ้าหน้าที่นำตัวนายมะสุกรีส่งโรงพยาบาลปัตตานี ในวันที่ 6 ของการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่มีการซ้อมทรมาน ไม่มีการชดเชยเยียวยา
และในกรณีถึงขั้นเสียชีวิต ได่แก่
1.นายอัสฮารี สะมะแอ อายุ 25 ปี ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กับหน่วยเฉพาะกิจที่ 13 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ในเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 21 ก.ค. 2550 ต่อมา นายอัสฮารีถูกเจ้าหน้าที่นำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในสภาพบาดเจ็บสาหัส ต่อมานายอัสฮารีเสียชีวิตที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เนื่องจากสมองบวม หน้าอกช้ำหลายจุด โดยศาลปกครองพิพากษาให้หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่มารดาผู้เสียชีวิต
2.นายยะผา กาเซ็ง หรือ 'อิหม่ามยะผา' อิหม่ามประจำมัสยิดหมู่บ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ จ.นราธิวาส ควบคุมตัวไว้ที่หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2551 ต่อมา อิหม่ามยะผา ถูกพบว่าเสียชีวิตอยู่บนรถที่ใช้ควบคุมตัว กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2551
ทั้งนี้ ภรรยาและบุตรของผู้เสียชีวิตฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ ศาลพิพากษาตามยอม โดยให้กองทัพบกชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ภรรยาและบุตรของนายยะผา
3.นายสุไลมาน แนซา อายุ 25 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2553 ต่อมานายสุไลมานถูกพบว่าเสียชีวิตในสภาพมีผ้าขนหนูผูกคอติดกับเหล็กดัดหน้าต่างในห้องควบคุมตัว ทั้งนี้ ศาล จ.ปัตตานี มีคำสั่งว่า เสียชีวิตเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง จากการผูกคอด้วยผ้าเช็ดตัวกับเหล็กดัดหน้าต่าง ระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ครอบครัวถอนฟ้องคดี หลังจากรัฐบาลได้จ่ายเงินเยียวยาความเสียหายจนเป็นที่พอใจ��ล้ว
4.นายอับดุลลายิ ดอเลาะ อายุ 41 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2558 ที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ต่อมานายอับดุลลายิเสียชีวิตในห้องควบคุมตัว เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2558 ทั้งนี้ ไม่พบบาดแผลจากการถูกทำร้ายร่างกายหรือการซ้อมทรมาน การไต่สวนสิ้นสุดที่ไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต
และกรณีของ 5.นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่งคง ถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี จากนั้นถูกเจ้าหน้าที่นำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลปัตตานี ในอาการสมองบวมอย่างรุนแรง จากการขาดอากาศหายใจเป็นเวลานาน ต่อมานายอับดุลเลาะเสียชีวิต ในวันที่ 25 ส.ค. 2562 โดยเพจเฟซบุ๊ก ครอบครัว อับดุลเลาะ อีซอมูซอ แจ้งว่า “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ได้กลับสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺ เมื่อเวลา 04.00 น. โดยประมาณ หลังจากไม่รู้สึกตัว และรับการรักษาตัว 35 วัน จากเหตุ การถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ และหมดสติภายใต้การควบคุมตัว”
ปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกบังคับใช้กฎหมายสามฉบับ คือ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) และ มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมตัวประชาชนที่ต้องสงสัยในพื้นที่ได้ถึง 7 วัน
จากแถลงการณ์ "ครบรอบ 9 ปี กฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยว่า ย้อนไปเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2547 ภายหลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ออกประกาศกองทัพภาคที่ 4 ให้ใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่เป็นครั้งแรกและมีผลใช้บังคับเรื่อยมาจนกระทั่งในวันที่ 21 ก.ค. 2548 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แทน และยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 หลังจากที่มีการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ได้เพียง 1 ปี คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ แม้ภายหลังได้มีประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางพื้นที่ แต่ยังคงใช้ในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา นับว่ารัฐบาลทุกชุดได้คงไว้ซึ่งการบังคับใช้กฎอัยการศึกทับซ้อนกับการประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ผลกระทบจากการบังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปรากฏชัดเจนคือ การปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัว โดยไม่ต้องมีหมายค้น หมายจับ และหมายควบคุมตัวจากศาล กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอย่างกว้างขวาง ในการใช้อำนาจที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยไม่มีการตรวจสอบจากองค์กรอื่นๆ แม้กระทั่งศาลหรือระบบตุลาการ สามารถในการตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัว หรือในทางกฎหมายใช้คำว่า “กักตัว” ได้ถึง 7 วัน
นอกจากปัญหาเรื่องการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ถูกควบคุมตัวได้รับผลกระทบบาดเจ็บหรือเสียชีวิต กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดว่า ในกรณีการตายโดยผิดธรรมชาติ อย่างเช่น การเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือการเสียชีวิตระว่างถูกเจ้าพนักงานควบคุมตัวต้องมีการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการเสียชีวิต ซึ่งข้อเท็จจริงที่ได้จากกระบวนการเหล่านี้ จะทำให้ทราบถึงสาเหตุของการเสียชีวิต และผู้เกี่ยวข้องอันจะเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการดำเนินการหาคนผิดมาลงโทษ
แต่ปัญหาใหญ่ของการนำคนผิดมาลงโทษโดยเฉพาะ 'เจ้าหน้าที่ทหาร' มีอย่างน้อย 2 ข้อ คือ
หนึ่ง ระยะเวลาในการต่อสู้คดีที่ยาวนาน ในอดีตที่ผ่านมามีสถิติ “ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง” 3 จังหวัดใต้ เจ็บหนัก-เสียชีวิต ในค่ายทหาร อย่างน้อย 6 คดี เฉพาะกรณีได้รับเงินชดเชยเยียวยาใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ส่วนการต่อสู้คดีเพื่อนำคนผิดมาลงโทษไม่มีคดีใดมีความคืบหน้า
สอง การดำเนินคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คดีไม่มีความคืบหน้า และปัญหาของการดำเนินคดีทหารในศาลทหารยังมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล เนื่องจาก ศาลทหารเป็นส่วนราชการที่ขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม ไม่ได้เป็นอำนาจตุลาการที่แยกขาดจากฝ่ายบริหาร และทั้งผู้พิพากษาและอัยการ ล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่จบนิติศาสตร์เพียงเท่านั้น
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์กับ ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ว่า เจ้าหน้าที่ที่ไปรับตัวนายอับดุลเลาะมา ยังไงก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ไม่ว่าจะอ้างเรื่องการติดเชื้อหรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะว่าอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสภาพตอนที่เจ้าหน้าที่ไปรับกับตอนที่จะคืนตัวเขาควรต้องอยู่ในสภาพเดิม เพราะตอนที่ไปรับยังแข็งแรงอยู่ แล้วยิ่งรับไปสอบในที่เฉพาะ ซึ่งไม่มีญาติพี่น้องเขาไปเยี่ยมได้ พอไปเยี่ยมก็ปรากฏว่าอยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว ก็ชัดเจนว่าตอนที่เขาเกิดอุบัติเหตุอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ “ผมอยากให้เป็นบทเรียนสำคัญ กรณีนี้ควรเป็นคนสุดท้าย”
นายวันมูหะมัดนอร์ ย้ำว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องมาดูแลอย่างใกล้ชิด และพูดคุยกับญาติเขาว่าต่อไปใครจะดูแลครอบครัวเขา เพราะนายอับดุลเลาะเป็นหลักในการดูแลครอบครัว เมื่อเขาเสียชีวิตจากการถูกควบคุมตัว จะมาปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะเขาเป็นเพียงผู้ต้องหา และยังบริสุทธิ์อยู่จนกว่าที่ศาลจะมีคำสั่งตัดสิน
“การใช้กฎหมายพิเศษเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการใช้กับประชาชนในพื้นที่ ประชาชนเขาเสียสิทธิ เสรีภาพ บางทีก็ใช้การควบคุม และดำเนินการบางอย่างจนกระทั่งบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต”
ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ขณะนี้นักการเมืองในพื้นที่และฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่า จะมีการยื่นญัตติในสภาฯ เพื่อให้มีการพิจารณาทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษทั้งสามฉบับ
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ว่า กรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ตำรวจได้ออกมาชี้แจงสาเหตุการเสียชีวิตแล้วว่านายอับดุลเลาะป่วยรักษาตัวมาได้ 1 เดือนแล้วและได้เสียชีวิตเนื่องจากอาการติดเชื้อซึ่งโรงพยาบาลทั้ง 3 โรงพยาบาลก็ออกมายืนยันว่าสาเหตุเสียชีวิตเพราะติดเชื้อ ยืนยันภาครัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต
ส่วนใบแจ้งการเสียชีวิต ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ออกให้แก่ครอบครัวเมืี่อวันที่ 25 ส.ค. ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าสมองขาดออกซิเจนและขาดเลือด ซึ่งไม่ตรงกับในแถลงการณ์ พล.อ.ประวิตรย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า "มันสวนทางกันยังไงเพราะ เขาบอกว่าติดเชื้อ"
ส่วนที่ครอบครัวเรียกร้องว่าตลอด 35 วันที่นายอับดุลเลาะ ถูกควบคุมตัวไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น กองทัพภาคที่ 4 จะดำเนินการชี้แจงกับครอบครัว
อ้างอิง :
ข่าวที่เกี่ยวข้อง