Trending Now 6 กุมภาพันธ์ 2561
LG เตรียมถอนตัวจากตลาดสมาร์ตโฟนในจีน
แอลจี ผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีจากเกาหลีใต้ เตรียมถอนตัวจากตลาดสมาร์ตโฟนในจีน หลังจากที่ไม่สามารถแข่งขันกับแบรนด์สมาร์ตโฟนเจ้าถิ่นอย่าง หัวเว่ย เสี่ยวมี่ และออปโป ที่กำลังเบียดส่วนแบ่งการตลาดไล่ตามหลังแอปเปิลและซัมซุง ในปี 2016 แอลจีสามารถทำยอดขายสมาร์ตโฟนในจีนไปได้เพียง 1 แสน 6 หมื่นเครื่อง และมียอดขายในตลาดสมาร์ตโฟนต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแอลจียังตัดสินใจไม่เปิดตัวสมาร์ตโฟนเรือธง LG G6 และ LG V30 ในจีนอีกด้วย
โดยแอลจี เผยรายได้ของบริษัทในปีที่ผ่านมาว่าเพิ่มขึ้นกว่า 10.9 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเงิน 55.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.75 ล้านล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เป็นรายได้ที่มาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรทัศน์ ในขณะที่ยอดขายสมาร์ตโฟนลดลงไปกว่า 192.33 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6,100 ล้านบาท ด้านโจซองจิน (Jo Seong Jin) ซีอีโอของแอลจีกล่าวว่า เตรียมผลิตสมาร์ตโฟนรุ่นต่อไปให้หลากหลายขึ้น และวางแผนเปิดตัวสมาร์ตโฟนตามโอกาสที่เห็นว่าเหมาะสม โดยจะไม่แข่งออกรุ่นใหม่ตามกระแสของแบรนด์อื่น นอกจากนั้น ยังมีคาดการณ์ว่า LG G7 สมาร์ตโฟนรุ่นใหม่จากแอลจีจะไม่เปิดตัวในงานโมบายล์เวิลด์คองเกรส แต่จะเปิดตัวในกลางปีนี้แทน
Airbus ทดสอบเครื่องบินแท็กซี่ไร้คนขับสำเร็จ
แอร์บัส ผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีการบิน ได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบ 'วาฮานา' เครื่องบินไฟฟ้าไร้คนขับที่มีลักษณะคล้ายโดรน ซึ่งทำหน้าที่เหมือนแท็กซี่บนอากาศ โดยการทดสอบครั้งนี้เป็นการนำเครื่องบินเท่าขนาดจริงที่จะให้บริการมาทดสอบบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งด้วยระบบไฟฟ้า eVTOL ซึ่งบินได้สูงสุดประมาณ 5 เมตรจากพื้นดิน โดยปราศจากคนขับและผู้โดยสาร และวาฮานาสามารถบินกลางอากาศได้นานเกือบ 1 นาที ก่อนจะลงจอดอย่างปลอดภัย
แอร์บัสบอกว่า บริษัทต้องการสร้างโครงการยานยนต์โดยสารไร้คนขับบนอากาศสำหรับรับส่งผู้โดยสารระหว่างดาดฟ้าอาคาร ในเมืองที่การจราจรหนาแน่น และได้เปิดตัวโครงการนี้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2016 ที่ 'เอคิวบ์ ( A³)' บริษัทลูกของแอร์บัสในซิลิคอนวัลเลย์ โดยจะเริ่มทดลองใช้ที่ตึกของแอร์บัสในซิลิคอนวัลเลย์เป็นอันดับถัดไป แม้ว่าการทดสอบบินทดสอบในครั้งนี้ยังห่างไกลจากการให้บริการรับส่งผู้โดยสารจริงอยู่ แต่เอคิวบ์ได้วางแผนให้เครื่องบิน 'วาฮานา' พร้อมให้บริการจริงภายในปี 2020
อดีตพนักงาน Facebook-Google ออกแคมเปญต้านเด็กติดโซเซียล
ทรัสตัน แฮร์ริส อดีตนักจริยธรรมด้านการออกแบบของกูเกิล นำทีมพนักงานบริษัทกูเกิลและเฟซบุ๊ก สองบริษัทยักษ์ใหญ่ในซิลิคอนวัลเลย์ สร้างแคมเปญ 'Truth about Tech' ซึ่งแปลว่า 'ความจริงเกี่ยวกับเทคโนโลยี' เพื่อกดดันให้บริษัทเทคโนโลยีลดการจูงใจผู้ใช้งานให้เสพติดเทคโนโลยี ที่สนับสนุนโดย 'Common Sense Media (คอมมอน เซนส์ มีเดีย)' องค์กรไม่แสวงกำไรซึ่งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและสื่ออย่างสร้างสรรค์สำหรับเยาวชน
โดยแคมเปญนี้จะเน้นให้ครอบครัวตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลของเด็ก ๆ พร้อมให้ข้อมูลและเทคนิคที่จะช่วยลดการเสพติดเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น การปิดแจ้งเตือน หรือการปรับสีหน้าจอให้เป็นขาวดำ ซึ่งซีอีโอของคอมมอนเซนส์ บอกว่า บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้กำลังควบคุมและทดสอบผู้ใช้งานที่เป็นเด็กแบบเรียลไทม์ โดยที่ไม่มีใครหรือองค์กรไหนออกมารับผิดชอบ และการที่เยาวชนเสพติดเทคโนโลยีมากเกินไป อาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านสังคม อารมณ์ และการรับรู้ของเด็กได้
รายงานการวิจัยของคอมมอนเซนส์ระบุว่า โดยปกติแล้ววัยรุ่นใช้เวลาเฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวันในการเสพสื่อ ในขณะที่วัยรุ่นตอนต้นใช้เวลาเฉลี่ย 6 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนั้น การศึกษาของนักจิตวิทยา ยีน ทเวนช์ ยังค้นพบว่า 56 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่ติดโซเชียลมีเดียนั้น มองว่าตนเองไม่มีความสุข โดย 27 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่าตนเองรู้สึกหดหู่