บริษัทรองเท้าและอุปกรณ์กีฬากว่า 130 แห่งทั่วสหรัฐฯ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีทรัมป์ ชะลอการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน หวั่นกระทบราคาสินค้ากีฬาภายในประเทศ
บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์และรองเท้ากีฬาในสหรัฐฯ จำนวน 173 บริษัท ร่วมกันลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรื่องการขอให้ชะลอการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนและยกเลิกการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยเนื้อความในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า ขอให้เลื่อนการขึ้นกำแพงภาษีเพิ่ม 25 % สำหรับรองเท้ากีฬา ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อผู้บริโภค บริษัท และเศรษฐกิจของชาวอเมริกันทั้งหมด
ในจดหมายยังกล่าวว่า ทางบริษัทผู้ผลิตรองเท้ากีฬาต้องเผชิญหน้ากับภาษีสูงกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ในทุกปี ทางกลุ่มผู้ผลิตคาดว่าหากมีการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มอีกจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคชาวอเมริกัน เพราะจริง ๆ แล้วข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทั้งหมดในอัตราที่สูงขึ้นนั้น เป็นการเรียกร้องให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน โดยทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องไปในทางเดียวกันว่ามันควรถึงเวลาที่จะยุติสงครามการค้าครั้งนี้ได้แล้ว
ปัจจุบันบริษัทรองเท้ากีฬาต้องเสียภาษีนำเข้าอยู่ที่ 11.3 % และภาษีรองเท้ากีฬาในปัจจุบันถูกเก็บจากผู้บริโภคในอัตราประมาณ 67.5 % และหากมีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 25 % นั้น ทางผู้ซื้อชาวอเมริกันอาจจะต้องจ่ายภาษีรองเท้ากีฬาในอัตราเกือบ 100 % เช่นกัน โดยสมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าของสหรัฐฯ ประเมินเอาไว้ว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จำต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ ในแต่ละปี จากการขึ้นภาษีรองเท้านำเข้าจากประเทศจีน
ปัจจุบัน บริษัทอุปกรณ์และรองเท้ากีฬาหลายบริษัทต่างมีฐานการผลิตอยู่ในจีน เช่น ไนกี้ มีการผลิตรองเท้ากีฬาในจีนถึง 26 % และเสื้อกีฬาก็ผลิตในจีนถึง 26 % เช่นกัน ขณะที่ รองเท้ากีฬา ยี่ห้อ สเกตเชอร์ ก็ผลิตในจีน 65 % ทางด้านบริษัท อันเดอร์ อามอร์ ผู้จัดจำหน่ายเสื้อและรองเท้ากีฬาก็มีสินค้าที่ผลิตในจีน 18 % ในปัจจุบัน ซึ่งในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา จีนคือแหล่งที่มาของสินค้าประเภทเสื้อผ้ากว่า 47 % รองเท้า 72 % และอุปกรณ์เดินทางอีกกว่า 84 %
แม้ว่าที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะกล่าวอยู่เสมอว่า บรรดาผู้ผลิตสินค้ากีฬาสัญชาติอเมริกันควรเร่งปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในยุคที่สหรัฐฯ ทำสงครามการค้ากับจีนเช่นนี้ ด้วยการฐานการผลิตและโรงงานต่าง ๆ ออกจากประเทศจีนกลับมาอยู่ที่สหรัฐฯ แต่เหล่าผู้บริหารของกลุ่มแบรนด์ใหญ่เหล่านี้ต่างไม่เห็นด้วย และชี้ว่าการจะทำเช่นนั้นได้จำเป็นจะต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะสำเร็จ และแม้ว่าพวกเขาจะเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลพยายามจัดการกับปัญหาการลักลอบถ่ายทอดเทคโนโลยีสหรัฐฯ เข้าไปยังจีน แต่การประกาศขึ้นกำแพงภาษีเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมกับภาคธุรกิจและผู้บริโภคอย่างชัดเจน
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทั้งหมดจาก 10 % เป็น 25 %โดยมีผลทันที ซึ่งภาษีดังกล่าวจะมีมูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน รวมมูลค่ากว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระบวนการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเกือบทั้งหมด จะต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่จะขึ้นภาษีได้จริง ๆ
การประกาศขึ้นภาษีครั้งใหม่ เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่คณะตัวแทนของรัฐบาลจีน นำโดย นายหลิวเหอ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของจีน ได้หารือกับผู้แทนทางการค้าและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เป็นเวลา 2 วัน ที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งการหารือจบลงไปโดยไม่มีข้อตกลงใด ๆ เกิดขึ้น แต่ทั้งสองฝ่ายแสดงความคิดเห็นตรงกันว่าการเจรจามีแนวโน้มไปในทางที่ดีและมีความคืบหน้ามากขึ้น ขณะที่ ทรัมป์ก็ทวีตข้อความยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ยังคงแนบแน่นเหมือนเดิม และสหรัฐฯ จะยังคงเดินหน้าเจรจากับจีนต่อไป ซึ่งสหรัฐฯ อาจจะยกเลิกการขึ้นภาษีสินค้าจีน หรืออาจจะไม่ยกเลิกก็ได้ ขึ้นอยู่กับผลของการเจรจาในอนาคต
และหลังจากนั้นไม่กี่วัน ในวันที่ 13 พฤษภาคม กระทรวงการคลังของจีนก็ออกมาประกาศเอาคืนสหรัฐฯ โดยระบุว่า จีนจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ จำนวนกว่า 4,000 รายการ โดยเพิ่มขึ้นในอัตรา 25 % 20 % และ 10 % ตามลำดับ โดยมีมูลค่ารวมกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์ และจะเริ่มมีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่จะถึงนี้ แต่มีการเน้นย้ำด้วยว่า การขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ ดังกล่าวจะไม่มีผลต่อสินค้าที่มีอัตราภาษีร้อยละ 5 จำนวน 595 รายการของสินค้าสหรัฐฯ
แถลงการณ์ระบุว่า "จีนหวังว่าสหรัฐฯ จะกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาทางการค้าในระดับทวิภาคีที่เหมาะสม เพื่อหารือและทำงานร่วมกันในครึ่งทาง เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและเคารพซึ่งกันและกัน"
นอกจากนั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนของรัฐบาลสหรัฐฯ วอลมาร์ต ผู้จัดจำหน่ายสินค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนถึงราคาสินค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น และหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ในรอบนี้แล้ว คือ กลุ่มธุรกิจเฟอร์เจอร์