องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ผลิตขยะพลาสติกอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งแม้ว่าประชาชนในภูมิภาคจะตระหนักถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี แต่กลับไม่มีแผนการกำจัดพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม
รายงานในปี 2015 ขององค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล หรือ Ocean Conservancy ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์แมคคินซีย์เพื่อการธุรกิจและสิ่งแวดล้อม หรือ McKinsey Center for Business and Environment ระบุว่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ติดอันดับประเทศที่ผลิตขยะพลาสติกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งผันแปรไปตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยกรุงเทพมหานครให้ข้อมูลในเดือนพฤษภาคมว่า ประชากรในเมืองหลวงกว่า 10 ล้านครัวเรือน ใช้ถุงพลาสติกรวม 80 ล้านใบต่อวัน หรือคิดเฉลี่ยเป็นคนละ 8 ใบต่อวัน
สำนักข่าวรอยเตอร์ส สัมภาษณ์ อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ในประเด็นนี้ ซึ่งอัญชลีมองว่า ยุคนี้ผู้คนใช้พลาสติกอย่างฟุ่มเฟือย แต่กลับไม่มีแผนการที่จะแก้ปัญหานี้ในระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง
วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 มิ.ย. 61) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ได้มีวาฬนำร่องขึ้นมาเกยตื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และเสียชีวิตในเวลาต่อมา เนื่องจากกินถุงพลาสติกเข้าไป 85 ชิ้น คิดเป็นน้ำหนักรวม 8 กิโลกรัม โดยจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยกับรอยเตอร์สว่า ทางการเตรียมให้ความรู้กับประชาชนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในวันที่ 8 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันทะเลโลก และจะขอให้ประชาชนร่วมมือกันลดการใช้ถุงพลาสติกต่อไป