ธนาคารโลกเผยการจัดอันดับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ของแต่ละประเทศทั่วโลก ซึ่งสิงคโปร์ได้อันดับที่ 1 ส่วนไทยได้อันดับที่ 65 จากทั้งหมด 157 ประเทศ
ประเทศในเอเชียหลายประเทศได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกในการจัดอันดับการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ของธนาคารโลก โดยพิจารณาจากอัตราการเกิดของเด็ก การลงทุนด้านการศึกษา และระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของเด็กในแต่ละประเทศ เนื่องจากเด็กจะเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในอนาคต โดยการจัดอันดับเป็นครั้งแรกในปีนี้ สิงคโปร์ได้อันดับ 1 ด้วยคะแนน 0.88 จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน ตามด้วยอันดับ 2 เกาหลีใต้, อันดับ 3 ญี่ปุ่น, อันดับ 4 ฮ่องกง และอันดับ 5 ฟินแลนด์
สำหรับประเทศที่อยู่ใน 20 อันดับสุดท้ายของการจัดอันดับครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปแอฟริกา เนื่องจากเยาวชนในประเทศเหล่านี้หลายล้านคนได้รับอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอ และไม่ได้รับการศึกษาที่จะช่วยให้สามารถประกอบอาชีพที่มีรายได้มั่นคงในอนาคต โดยมีประเทศ ชาด ในทวีปแอฟริกากลางได้อันดับสุดท้าย ด้วยคะแนน 0.29
ส่วนประเทศไทยได้อันดับที่ 65 ด้วยคะแนน 0.60 ได้คะแนนเท่ากับประเทศเอกวาดอร์ โรมาเนีย อุรุกวัย และอาเซอร์ไบจาน โดยประเทศไทยได้คะแนนตามหลังมาเลเซียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 55 ด้วยคะแนน 0.62 ขณะที่เวียดนามครองความโดดเด่นด้วยอันดับที่ 48 ด้วยคะแนน 0.67 ส่วนประเทศในภูมิภาคที่ถูกจัดอันดับถัดจากไทย คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา และลาว
ธนาคารโลกมองว่า การจัดอันดับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เป็นดัชนีชี้วัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชากรที่ได้ผลดีกว่าดัชนีแบบเดิม ที่ให้ความสำคัญกับตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่รายได้ของประชาชนอาจลดลง ซึ่งการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ นอกจากจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรงแล้ว ยังจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นด้วย เนื่องจากประชากรในวัยเด็กที่มีคุณภาพมากขึ้น จะเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
การจัดอันดับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ของธนาคารโลกครั้งนี้สอดคล้องกับรายงานคุณภาพชีวิตเด็กประจำปี 2018 ขององค์กรช่วยเหลือเด็กระหว่างประเทศ Save the Children ซึ่งระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดต่อการเจริญเติบโตของเด็ก จากการประเมิน 175 ประเทศทั่วโลก ตามมาด้วย สโลวีเนีย นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์
ขณะที่ไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่อันดับที่ 85 ซึ่งต่ำกว่าเกาหลีเหนือที่อยู่ในลำดับที่ 70 และต่ำกว่าดินแดนที่ยังมีการสู้รบอย่างเซอร์เบียและปาเลสไตน์ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 42 และ 84 ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ในรายงานยังมีการระบุว่าเป็นประเทศที่มีการแบ่งแยกเด็กผู้ชาย-ผู้หญิงอย่างชัดเจน
ด้านฮัดซัน นูร์ ซาดี ผู้อำนวยการ Save the Children ประจำภูมิภาคเอเชียกล่าวว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่เด็กสามารถเจริญเติบโตและมีสุขภาพได้ดีที่สุด ด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพสูง และระบบการบริการด้านสาธารณสุขที่ดี นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ขณะที่อีกหลายประเทศทั่วโลก เด็กหลายกลุ่มยังมีปัญหา ทั้งเรื่องการแต่งงานในวัยเด็ก การเข้าถึงการศึกษา และภัยสงคราม แต่ไม่ใช่สำหรับสิงคโปร์ หรือถ้ามี ก็เกิดขึ้นในอัตราที่ต่ำมาก
นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์กรวิจัยเอกชน ABI Research จัดอันดับให้สิงคโปร์เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ตซิตี้ อันดับหนึ่งของโลก โดยวัดจากการจัดการและการให้บริการด้านความสะดวกในชีวิตประจำวันของพลเมืองภายในเมืองต่าง ๆ รวมไปถึงการพิจารณาในด้านความแออัด การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP และการเกิดอาชญากรรมภายในเมือง
สิงคโปร์เป็นเมืองที่ได้รับคะแนนสูงสุดในด้านการจัดการนวัตกรรมที่มุ่งเน้นในเรื่องของการบริการ การเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อด้านคมนาคม รวมไปถึงการวางแผนจัดการโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่มีการจัดการเชื่อมโยงเครือข่ายของเมืองให้เข้ากับวิถีชีวิตของพลเมืองในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง ชนะเมืองขนาดใหญ่ทั่วโลกอย่างนิวยอร์ก ลอสแองเจลิส ปารีส ลอนดอน เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง โตเกียว และโซล