ความหลากหลายทางเชื้อชาติเป็นประเด็นที่มีการเคลื่อนไหวในหลายแวดวง เช่น ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่นับวันจะมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ในสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือสำหรับเด็กกลับยังมีการเดินเรื่องด้วยตัวละครผิวขาวเป็นส่วนใหญ่ โดยล่าสุด สำนักข่าวดังได้เขียนบทวามพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้
เคที สกอตต์ คอลัมนิสต์ข่าวออนไลน์ของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เขียนบทความถึงความไม่หลากหลายทางเชื้อชาติของตัวละครในหนังสือสำหรับเด็ก โดยอ้างถึง เด็กหญิงมาร์ลีย์ ดิแอส วัย 11 ขวบ ที่บ่นว่าเธอเบื่อเต็มทีกับการอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับ 'เด็กผู้ชายผิวขาวและสุนัขของพวกเขา' เต็มที ทำให้เธอริเริ่มแคมเปญเพื่อความหลากหลายทางเชื้อชาติที่เรียกว่า #1000BlackGirlBooks สนับสนุนการมีตัวละครเอกเป็นคนผิวสีมากขึ้น
ทั้งนี้ ดิแอส รวบรวมหนังสือกว่า 11,000 เล่ม ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อเตรียมบริจาคให้กับชุมชนคนผิวสี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนผิวดำ ทั้งในสหรัฐฯ เฮติ กานา และสหราชอาณาจักร รวมถึงเขียนหนังสือเด็กขึ้นเอง ในชื่อ Marley Dias Gets It Done หรือ 'มาร์ลีย์ ดิแอส ทำสำเร็จ' โดยมีจุดมุ่งหมายให้เด็ก ๆ ได้มีหนังสือเกี่ยวกับเด็กหญิงผิวดำได้อ่านบ้าง เธอบอกกับซีเอ็นเอ็นว่า เธอหวังจะเห็นหนังสือที่มีตัวเอกเป็นผู้หญิง และเป็นผิวสี บนชั้นหนังสือทั่วโลก
ปัจจุบัน จากหนังสือเด็กที่ตีพิมพ์ในสหรัฐฯ ในปี 2017 ทั้งหมด ราว 3,700 เล่ม มีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีตัวละครเป็นแอฟริกัน หรือแอฟริกันอเมริกัน หรือคิดเป็น 122 เล่ม เป็นอันดับ 3 จากทุกกลุ่มชาติพันธุ์ รองจากอันดับ 1 ตัวละครผิวขาวที่มีมากที่สุด 3,150 เล่ม และอันดับ 2 ตัวละครเอเชียน แปซิฟิก และแปซิฟิกอเมริกัน หรือก็คือชาวเอเชียที่อาศัยโซนอเมริกา มีจำนวน 274 เล่ม ขณะที่ อันดับ 4 คือชาวลาติน ที่ 116 เล่ม และสุดท้าย อันดับ 5 คือชาวอเมริกันพื้นถิ่น หรือที่หลายคนยังเรียกว่า 'อินเดียนแดง' ที่มีจำนวน 38 เล่ม
ข้อมูลดังกล่าวมาจากหน่วยงาน Cooperative Children's Book Center หรือ CCBC ที่ประเมินข้อมูลการนำเสนอเนื้อหาในหนังสือเด็กมาตั้งแต่ปี 1985 ซึ่งทางหน่วยงานระบุว่า แม้ความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ยังไม่มากนัก แต่ถือเป็นพัฒนาดีขึ้นเรื่อย ๆ จากปีก่อน ๆ โดยเมื่อปี 2014 มีหนังสือเด็กเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ที่มีตัวละครแอฟริกันอเมริกัน
แคทลีน ฮอร์นิง ผู้อำนวยการ CCBC ระบุว่า อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ หนังสือที่เกี่ยวกับเด็กผิวสีส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นโดยนักเขียนชาติพันธุ์นั้น โดยมีชาวแอฟริกันอเมริกันเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ที่แต่งหรือวาดหนังสือเด็กที่ตีพิมพ์ในปี 2017 ซึ่งอาจสรุปได้ว่า นักเขียนผิวสียังไม่มีโอกาสมากพอที่จะเติบโตในวงการหนังสือ และเมื่อมีการตีพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับคนดำ ก็จะมีเนื้อหาจำกัดอยู่แค่ 3 เรื่อง คือ 1) เกี่ยวกับทาส 2) เกี่ยวกับ civil rights movement หรือ การเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมือง และ 3) เกี่ยวกับเด็กผิวสีที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวยากจน หรือ วัยรุ่นผิวสีที่ต้องรับมือกับความรุนแรงในสังคม ซึ่งเป็นประเด็นร่วมสมัยที่ถูกนำเสนอในสื่อทั่วไปอยู่แล้ว
ฮอร์นิง กล่าวว่า เรื่องเกี่ยวกับคนผิวสีควรมีความหลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนผิวสีมีอยู่ทั่วไปในทุกสถานะทางสังคม แต่กลับไม่มีเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวคนดำชนชั้นกลางออกมาเลย อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าดีใจที่ปีนี้ เริ่มมีงานเขียนอย่าง Children of Blood and Bone ของ โทนี อเดเยมี และ Pride ของ อิบี โซบอย ซึ่งเป็นงานร่วมสมัยที่อิงจาก Pride and Prejudice ที่เล่าถึงครอบครัวชาวอเมริกันเชื้อสายเฮติผสมโดมินิกัน ตีพิมพ์ออกมาแล้ว
อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ตัวสำนักพิมพ์เอง ก็ไม่ได้มีความหลากหลายเท่าที่ควร โดยผลสำรวจเมื่อปี 2015 พบว่า 79 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานสำนักพิมพ์อเมริกัน 34 แห่ง เป็นคนขาว ซึ่งอาจส่งผลให้พวกเขาเลือกกลุ่มผู้บริโภคตามสิ่งที่ตัวเองบริโภค
ฮอร์นิง ระบุว่า การพยายามสร้างความหลากหลายทางเชื้อชาติต้องไม่เริ่มแค่ที่นักเขียน หรือสำนักพิมพ์ แต่ควรรวมถึงครู บรรณารักษ์ และผู้ปกครองด้วย โดยทุกคนที่กล่าวมาล้วนมีส่วนรับผิดชอบต่อการอ่านของเด็ก ๆ ซึ่งผู้ใหญ่ไม่ควรให้เด็กอ่านหนังสือแค่ที่สะท้อนตัวตนของพวกเขาเองเท่านั้น