สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนหันมาตั้งฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษี ซึ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับอาเซียนและไทย แต่อุตสาหกรรมทำเงินอย่างการท่องเที่ยวกลับสร้างปัญหาให้กับภาคธุรกิจของไทยอย่างต่อเนื่อง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติต่างตัดสินใจย้ายฐานการผลิตโดยตรงมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่าง ๆ ในแถบนี้ต่างเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากข้อมูลรายงานวิจัยของเมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า ในช่วง 9 เดือนแรกภาคอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามเติบโตกว่า 18 เปอร์เซ็นต์ จากการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ รวมไปถึงการลงทุนจากโครงการอุตสาหกรรมพลาสติก โพลีโพรพิลีนจากกลุ่มเฮซัง เกาหลีใต้ โดยมีมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว ... บาท
ขณะที่ข้อมูลของธนาคารกลางแห่งประเทศไทยระบุว่า การลงทุนโดยของต่างชาติในไทยตั้งเดือนมกราคม ถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นกว่า 53 เปอร์เซ็นต์ โดยมีมูลค่าการลงทุนมากถึง 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 250,800 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าตัวในภาคอุตสาหกรรมการผลิต
นอกจากนี้ในฟิลิปปินส์ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติก็ไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเช่นกัน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ภาคการอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์มีเงินไหลเข้ามามากกว่า 861 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 28,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่าการลงทุนเพียงแค่ 144 ล้านดอลลาร์หรือราว 4,680 ล้านบาทเท่านั้น
ชัวฮัคบิน และ ลี จูเย่ว นักเศรษฐศาสตร์จากเมย์แบงก์กล่าวว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้นักลงทุนหลายบริษัทหันมาตั้งฐานการผลิตในอาเซียนกันมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษี โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์บริโภค อุตสาหกรรม เทคโนโลยีและอุปกรณ์การสื่อสาร รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์และเคมีภัณฑ์
ผลสำรวจนับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ถึงวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมาระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบในเชิงบวกจากสงครามการค้า เนื่องจาก 1 ใน 3 ของบริษัทในสหรัฐฯ กว่า 430 แห่งต่างตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากจีน หลังจากสหรัฐฯ และจีนต่างแข่งขันในสนามการค้าและกำแพงภาษี สร้างความตึงเครียดให้กับการผลิตและการส่งออกในภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่นายอิกเนเชียส ดาเรล ไลคิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมมาเลเซียกล่าวในงานประชุมประจำปี World Economic Forum ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า อาเซียนควรหันหน้ามาร่วมมือกันอีกครั้ง และต้องหันมาสร้างความร่วมมือเและโอกาสในทางเศรษฐกิจผ่านประชาคมอาเซียน เพื่อช่วยลดผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ก่อนหน้านี้สำนักข่าว Bloomberg เคยวิเคราะห์สถานการณ์ของไทยไว้ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยมีจุดเด่นตรงที่ในไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยเติบโต 4.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่ารวดเร็วที่สุดในรอบ 5 ปี ขณะที่เงินเฟ้อในปัจจุบันยังอยูในระดับที่ต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 1-4 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน ยังสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.50 ต่อไปได้อีก ซึ่งอยู่ในระดับนี้มาตั้งแต่ปี 2558
นักเศรษฐศาสตร์ของ Capital Economics มองว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะยังแข็งแกร่งอยู่ในระยะสั้น แต่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ประกอบกับเสถียรภาพทางการเมืองที่ลดลงอาจทำให้เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นขึ้นกลับซบเซาลงได้ในปีหน้า ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลสัญญาว่าจัดการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ในหลากหลายอุตสาหกรรม แต่ไม่ใช่สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักอุตสาหกรรมที่ทำเงินของไทย เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคมและยังลดลงเรื่อย ๆ จนส่งผลกระทบให้เมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่และพัทยา ต้องหาวิธีแก้ปัญหานี้ ด้วยมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาอีกครั้ง
ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รายงานสถานการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยพบว่า ชาวจีนยังครองแชมป์ อันดับ 1 ด้วยจำนวน 929,771 คน แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าพบว่า ลดลง 0.87 เปอร์เซ็นต์ โดยจำนวนได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในเดือนสิงหาคมนักท่องเที่ยวจีนลดลงเหลือ 867,461 คน น้อยกว่าปีที่แล้ว 11.77 เปอร์เซ็นต์
ส่วนในเดือนกันยายน นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยราว 648,000 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 14.89 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนนี้เกิดขึ้นในเดือนที่มีเหตุการณ์เรือบรรทุกนักท่องเที่ยวชาวจีนล่มในจังหวัดภูเก็ต ทำให้มีชาวจีนเสียชีวิต 46 ราย สร้างผลกระทบและความเสียหายมูลค่ามหาศาลให้กับภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน