รายงานดัชนีชี้วัดความสุขของยูเอ็นระบุ ความสุขของคนในสังคมไทยลดลง ขณะที่ฟินแลนด์ยังคงครองแชมป์ประเทศที่ประชาชนมีความสุขที่สุดในโลก
รายงานดัชนีความสุขโลกของสหประชาชาติประจำปี 2019 ระบุว่า ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ประชาชนมีความสุขที่สุดในโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และในลำดับ 1 - 10 ของประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกนั้น เป็นประเทศจากกลุ่มสแกนดิเนเวียและยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ ประเทศนิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย ต่างก็ติดอยู่ในลำดับต้น ๆ ของประเทศที่มีความสุขที่สุดเช่นกัน
สหประชาชาติใช้ดัชนี้ชี้วัด 6 ข้อสำคัญในการจัดอันดับความสุข คือ รายได้, เสรีภาพ, ความเชื่อมั่น, การได้รับการสนับสนุนจากสังคม, ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และสุขภาพของประชาชน
รายงานระบุว่า แม้ว่าฟินแลนด์จะมีฤดูหนาวที่มืดมนและยาวนาน แต่ความสุขที่เพิ่มขึ้นของประชากรในฟินแลนด์นั้นมาจากการสนับสนุนในเรื่องสวัสดิการพื้นฐานในการดำรงชีวิตจากภาครัฐ ทั้งสิทธิการเข้าถึงธรรมชาติ ความปลอดภัยจากรัฐ การศึกษาฟรี การมีศูนย์เลี้ยงเด็ก รวมไปถึงการสนับสนุนการรักษาสุขภาพจากภาครัฐในงบประมาณที่สูง
รายงานดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า ประเทศที่เป็นมหาอำนาจหลายประเทศนั้น ประชาชนภายในประเทศต่างมีความสุขลดน้อยลง โดยในปีนี้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีนก็ตกจากอันดับที่ 86 ในปีที่ผ่านมา ลงมาอยู่ที่อันดับที่ 93 ในปีนี้ รัสเซียก็ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 68 จาก 59 ในปี 2018 ขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ประชาชนในประเทศต่างมีความสุขลดน้อยลงเช่นกัน โดยปีนี้สหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 19 ซึ่งตกลงมาจากอันดับที่ 18 เมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่ คะแนนด้านเสรีภาพของสหรัฐฯ ยู่ที่ลำดับที่ 61 และอันดับคอร์รัปชันอยู่ในลำดับที่ 42
สำหรับประเทศไทยในปีนี้ ดัชนีความสุขของประชาชนในประเทศอยู่ในลำดับที่ 59 ซึ่งลดลงจากปี 2018 ในรายงานยังระบุอีกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการบริจาคเงินหรือสิ่งของให้แก่การกุศลสูงถึง 72.8 % ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับ 134 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มสำรวจทั่วโลก แต่ชั่วโมงในการทำงานจิตอาสาของไทยนั้นมีเพียงแค่ 15.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
การจัดอันดับดัชนีชี้วัดความสุขนี้ถูกผลักดันโดยประเทศภูฏานเมื่อปี 2011 อย่างไรก็ตาม ในรายงานประจำปี 2019 นี้ ภูฏานได้รับการจัดอันดับอยู่ในลำดับที่ 95 ซึ่งขยับขึ้นมาจากปีที่ผ่านมา 2 อันดับ จากทั้งหมด 156 ประเทศ
นอกจากการครองแชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดหลายต่อหลายสมัยแล้ว ฟินแลนด์ยังขึ้นชื่อการมีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดติดอันดับต้น ๆ ของโลกตลอดเวลาอีกด้วย เพราะฟินแลนด์ไม่ได้ให้การศึกษาฟรีเฉพาะกับชาวฟินแลนด์แท้ ๆ เท่านั้น แต่กับเด็กต่างชาติที่เกิดในฟินแลนด์ รวมถึงผู้ที่เข้ามาตั้งรกรากใหม่ ก็มีสิทธิ์ได้ใช้สวัสดิการนี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพ สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศได้สูงสุด และสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างไม่แปลกแยก
สมใจ แสงยืนยงพิพัฒน์ เคยได้ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ทีวีเมื่อปีที่ผ่านมา โดยตัวเธอจบปริญญาเอกด้านฟิสิกส์จากไทย เคยสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยไทย ก่อนจะตัดสินใจมาทำงานวิจัยต่อที่ฟินแลนด์ และได้ทำงานที่แผนกรังสีรักษาในฐานะนักฟิสิกส์การแพทย์ จนกระทั่งได้แต่งงาน สร้างครอบครัวที่นี่ แต่สมใจตัดสินใจเรียนเป็นครู เนื่องจากเธอได้ยินมาว่าฟินแลนด์มีระบบการศึกษาที่ดี เมื่อลูกของตัวเองจะต้องเข้าเรียนที่นี่ เธอจึงอยากรู้ว่าการเรียนการสอนของฟินแลนด์ที่ลูกจะต้องเจอ จะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ เธอรู้ว่าครูถือว่าเป็นอาชีพที่การแข่งขันสูง และเข้มงวดมากของฟินแลนด์ ถึงระดับที่คนที่จะมาประกอบอาชีพครู คือคน 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เรียนดีที่สุดเท่านั้น เพราะประเทศนี้เชื่อว่าผู้หล่อหลอมทรัพยากรคนให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถสูงสุด
ความแตกต่างประการแรกที่สมใจ ผู้เคยผ่านทั้งการเรียนและการสอนในระบบการศึกษาไทย และได้มารับรู้ระบบการเรียนการสอน รวมถึงการฝึกอบรมครูในฟินแลนด์ สามารถตระหนักได้ ก็คือ ครูฟินแลนด์มีเสรีภาพในการออกแบบการเรียนการสอนอย่างมาก มีเพียงแนวทางหลักที่ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูใหญ่ชี้แจงมาเท่านั้น ว่าในแต่ละระดับการศึกษา เด็กต้องบรรลุถึงความสามารถอะไรบ้าง แต่กิจกรรมและแนวทางเทคนิคการสอนให้ได้ผลตามนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ครูสามารถออกแบบได้เอง
นอกจากนี้ บรรยากาศและโครงสร้างในห้องเรียนก็ยังแตกต่างกันมากระหว่างไทยกับฟินแลนด์ ในฟินแลนด์ โรงเรียนประถมจะมีครู 1 คนต่อเด็ก 20 คน และยังมีครูผู้ช่วยอีก 2-3 คน รวมถึงมีครูพิเศษต่างหากสำหรับแนะนำช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาเรียนรู้ช้า หรือไม่ทันเพื่อน
นอกจากจะเป็นครู สมใจยังมีสถานะเป็นผู้ปกครองในระบบการศึกษาฟินแลนด์ ลูกสาวของเธอกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งสมใจยืนยันว่า สิ่งที่เธอคิดว่าดีที่สุดเกี่ยวกับการศึกษาฟินแลนด์ คือครูที่มีคุณภาพ ผ่านการอบรมอย่างดี ทำให้โรงเรียนที่ดีที่สุด ก็คือโรงเรียนใกล้บ้าน เพราะมาตรฐานการศึกษาต่างกันน้อยมาก ทำให้เด็กไม่ต้องขวนขวายเดินทางไกล ๆ ไปโรงเรียน
หากจะถามว่าการศึกษาไทยต่างกับฟินแลนด์ที่ตรงไหนมากที่สุด สมใจมองว่าเป็นเรื่องของความต่อเนื่องของนโยบายการศึกษา ที่จะวางแผนการศึกษาล่วงหน้า 10 ปี เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนไปพร้อมกับนโยบายปฏิรูปการศึกษาที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่องในการวางแผนพัฒนา สิ่งที่เธออยากเห็น คือ การวางแนวทางปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจน และหวังผลระยะยาว เมื่อเกิดความต่อเนื่องเชิงนโยบายแล้ว ก็จะนำมาสู่การเชื่อใจและร่วมมือกันระหว่างครู ผู้ปกครอง โรงเรียน รัฐบาล ว่าจะพัฒนาบุคลากรในประเทศโดยใช้การศึกษาเป็นธงนำ