ในทศวรรษที่ผ่านมา เมืองไทยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 200 ล้านคน ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ความนิยมเที่ยวเมืองไทยมักผันไปเป็นด้านการแพทย์ ซึ่งนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยนิยมมาเที่ยวเมืองไทยเพื่อบำบัดอาการติดเหล้าหรือสารเสพติด
ไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่โดดเด่นจากภาพลักษณ์ประเทศที่เป็นมิตรและมีทะเลที่สวยงาม แต่ในระยะหลังเทรนด์การเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติหันไปเจาะบริการทางการแพทย์มากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับประเทศต้นทาง ซึ่งจากการบำบัดรักษายอดนิยมทั้งหมด การบำบัดอาการเสพติดแอลกอฮอล์และสารเสพติดดูจะเป็นโปรแกรมเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน
บทความล่าสุดจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า อเมริกาเหนือ ยุโรป และออสเตรเลีย ล้วนมีปัญหาสิ่งเสพติดของตัวเอง เช่น โอปิออยด์ เฮโรอีน และยาบ้า แต่ระบบการรักษาในทวีปหรือประเทศนั้น ๆ ต้องใช้เวลาลงชื่อต่อคิวนาน การข้ามมารักษาในประเทศที่กฎเกณฑ์วีซาไม่เข้มงวดจึงถือเป็นทางออกที่ดีกว่า
'เดอะ เคบิน' สถานบำบัดสไตล์ตะวันตกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและค่าใช้จ่ายแพงที่สุดในไทย รองรับผู้พักได้ 120 คน แต่ละคนสามารถเข้ารับสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างครบครัน โดยมีการแบ่งโซนรับประทานอาการ ฟิตเนส และคลินิก ท่ามกลางวิวธรรมชาติที่สวยงามในจังหวัดเชียงใหม่ และยังมีการจัดโปรแกรมเฉพาะสำหรับลูกค้าอาหรับ ลูกค้าที่มีความหลากหลายทางเพศ และลูกค้าผู้ชายวัยรุ่น แยกเป็นกลุ่ม ๆ
สำหรับโปรแกรมเข้าพัก 1 เดือนของที่นี่ราคา 15,900 ดอลลาร์ หรือ 506,000 บาท ขณะที่ สถานบำบัดชื่อดังในสหรัฐฯ 'เบ็ตตี ฟอร์ด เซ็นเตอร์' ราคาอยู่ที่ 67,750 ดอลลาร์ หรือเกือบ 2 ล้าน 2 แสนบาท
สถานบำบัดที่ได้รับความนิยมอีกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่คือ 'ล้านนา รีแฮบ' ที่รับผู้เข้าพักเพียง 24 คน เน้นความเป็นส่วนตัวและอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ไกลจากความเป็นเมือง ผู้ก่อตั้งที่นี่เชื่อว่าไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็น 'ฮับ' สถานบำบัดของเอเชีย หรือแม้แต่ของโลกได้
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรระบุว่า ปีที่แล้ว ไทยทำรายได้จากผู้เข้ารักษาในสถานบำบัดราว 1,560 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 49,000 ล้านบาท