ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติค้นพบว่า ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศสามารถลดคุณค่าทางโภชนาการในข้าวได้
วารสาร Science Advances ตีพิมพ์ผลวิจัยที่ระบุว่า ข้าวที่เติบโตในอากาศที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง จะมีวิตามินบี 4 ชนิดที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งบี1 บี2 บี5 และบี9 นอกจากนั้นปริมาณโปรตีน เหล็ก และสังกะสียังลดลงอีกด้วย จึงสรุปได้ว่า ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศสามารถลดคุณค่าทางโภชนาการในข้าวได้
แม้คาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น จะช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารมากขึ้น แต่หากก๊าซนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือเพิ่มในปริมาณที่สูงจนเกินไป พืชก็ไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ทัน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อมนุษย์ที่บริโภคพืชที่มีสารอาหารลดลงเช่นกัน
ปัจจุบัน ข้าวถือเป็นอาหารหลักของประชากรโลกกว่า 2,000 ล้านคน โดยเฉพาะในเอเชีย และยังเป็นพืชอาหารหลักที่เติบโตได้ดีที่สุดในแอฟริกา ทำให้มีคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างยิ่ง ซึ่งหากคุณค่าทางโภชนาการในข้าวถูกลดทอนไปตามสภาพอากาศเช่นนี้ จะทำให้สุขภาวะของประชากรกลุ่มที่เปราะบางของโลก เช่น แม่และเด็กอ่อน อยู่ในข่ายน่าเป็นห่วง