หลังโศกนาฏกรรมโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ระเบิดที่เมืองเชอร์โนบิลผ่านไป 30 ปี ล่าสุด ยูเครนได้ชุบชีวิตใหม่ให้เมืองนี้ด้วยการปรับพื้นที่ร้างให้กลายเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ยูเครนได้เปิดตัวโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเมืองเชอร์โนบิล ซึ่งติดตั้งโซลาร์เซลล์จำนวน 3,800 แผ่น สามารถผลิตไฟฟ้าได้รวมหนึ่งเมกะวัตต์ เพื่อส่งให้กับครัวเรือนได้ราว 2,000 ห้อง โดยโครงการนี้เกิดจากการร่วมลงทุนของบริษัทเอกชนในยูเครนและเยอรมนี เป็นมูลค่าราวหนึ่งล้านยูโร หรือราว 37 ล้านบาท
โรงงานนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับอดีตโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เกิดเหตุระเบิดไปเมื่อเดือนเมษายน ปี 1986 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคนจากกัมมันตรังสี และทำให้สหภาพโซเวียตต้องสั่งอพยพคนกว่าแสนคนออกจากพื้นที่ โดยปัจจุบัน บริเวณดังกล่าวยังถือเป็นพื้นที่อันตรายและห้ามสิ่งมีชีวิตอยู่อาศัย แต่มีการเปิดให้กรุ๊ปทัวร์ได้เยี่ยมชมชั่วคราว โดยต้องมีไกด์ดูแลอย่างใกล้ชิดเท่านั้น
การเปิดตัวโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นี้ถือเป็นครั้งแรกที่พื้นที่ร้างแห่งนี้กลับมาผลิตพลังงานอีกครั้งนับจากปี 2000 ที่โรงงานนิวเคลียร์ถูกปิดอย่างถาวร โดยเมื่อสองปีก่อน ได้มีการสร้างซุ้มแท่งเหล็กขนาดใหญ่ไปครอบไว้บนพื้นที่โรงงานนิวเคลียร์ เพื่อป้องกันไม่ให้กัมมันตรังสีเล็ดรอดออกมาได้ และเพื่อที่จะได้แยกชิ้นส่วนของปฏิกรณ์นิวเคลียร์ออกมาได้อย่างปลอดภัย
ปัจจุบัน ยูเครนต้องการลดการพึ่งพาแก๊ซธรรมชาติจากรัสเซียให้ได้ภายในปี 2020 จึงพยายามที่จะพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกในประเทศ และเปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน โดยนับจากเดือนมกราคมถึงกันยายน ยูเครนผลิตพลังงานทางเลือกถึง 500 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วถึงสองเท่า