รายงานยูเอ็นระบุในอีก 32 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2,200 ล้านคน พร้อมเตือนเยาวชนในอนาคตเสี่ยงเผชิญปัญหาเข้าไม่ถึงการศึกษาและสาธารณสุข รวมถึงวิกฤติการณ์ว่างงาน
รายงานของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Population Fund ระบุว่า ภายในปี 2050 หรืออีกประมาณ 32 ปีข้างหน้านี้ ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีกมากถึง 2,200 ล้านคน ซึ่งอัตราการเติบโตของประชากรกว่าครึ่งจะเกิดในภูมิภาคแอฟริกา และแน่นอนว่าจะส่งผลให้ประชากรในทวีปแอฟริกามีมากถึง 26 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลก
ในรายงานดังกล่าวของสหประชาชาติยังระบุอีกด้วยว่า ทวีปแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเกิดของประชากรสูงที่สุด โดยส่วนใหญ่พบว่ามีการตั้งครรภ์ในเด็กอายุ 15 ปี หรือต่ำกว่านั้นเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มการเกิดใหม่ของประชากรในเมืองน้อยกว่าในพื้นที่ชนบท เช่น ในเอธิโอเปียจะมีการกำเนิดประชากรเฉลี่ย 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน ขณะที่ในเขตชนบทจะมีอัตราการเกิดสูงกว่า โดยผู้หญิง 1 คนจะมีบุตรมากราว 5 คน
ซึ่งปัจจุบันประชากรกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ในทวีปแอฟริกามีอายุต่ำกว่า 25 ปี โดยผู้หญิงใน 38 ประเทศของภูมิภาคนี้ มีบุตรอย่างต่ำ 4 คน ขณะที่ประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง เช่น อิรัก อัฟกานิสถาน มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
สำหรับประเทศไทยและประเทศที่พัฒนาแล้วอีกหลายประเทศอย่างสหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น และประเทศในทวีปยุโรป รวมถึงจีน ต่างถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเกิดของประชากรต่ำ และพบว่าในประเทศเหล่านี้อัตราการแต่งงานของประชากรหญิงเฉลี่ยอยู่ที่ 30 - 40 ปีขึ้นไป ซึ่งรายงานระบุว่า ประเทศกลุ่มนี้ต่างมีความกังวลกับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับการมีลูก รวมไปถึงอัตราค่าครองชีพที่สูง จนนำไปสู่อัตราการมีบุตรของแต่ละครอบครัวที่ต่ำ รวมไปถึงความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ของผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้นด้วย
โมนิก้า เฟอร์โร ผู้อำนวยการกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า ผู้หญิงจำนวน 671 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนา เลือกที่จะใช้วิธีการคุมกำเนิดสมัยใหม่ ขณะเดียวกันยังมีผู้หญิงอีกกว่า 250 ล้านคนที่ต้องการคุมกำเนิด แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิดสมัยใหม่ โดยในแต่ละปีมีผู้หญิงกว่า 300,000 คนเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์หรือระหว่างการคลอดลูก เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพของแม่ได้ และนอกจากนี้ในทุก ๆ วันยังมีเด็กผู้หญิงนับพันคนที่ถูกบังคับให้แต่งงานในขณะที่อายุยังน้อย
รายงานของ UN Population Fund ยังเตือนด้วยว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เยาวชนในอนาคตเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาเข้าไม่ถึงการศึกษา สาธารณสุข และตกงาน
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์และอภิมหาเศรษฐีอันดับที่ 2 ของโลกได้กล่าวว่าประชากรโลกเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่รวดเร็ว จำนวนประชากรโลกในช่วงศตวรรษ 1800 มีประมาณไม่ถึงหนึ่งพันล้านคน แต่จากข้อมูลล่าสุดในปี 2015 โลกมีประชากรอยู่มากถึง 7,400 ล้านคน
เกตส์ชี้ว่าการคาดการณ์เช่นนี้นำมาสู่คำถามว่า หากการให้บริการด้านสาธารณสุขที่ช่วยรักษาชีวิตเด็ก ๆ ด้วยตัวยาใหม่ ๆ จะทำให้เกิดปัญหาจำนวนประชากรล้นโลกใช่หรือไม่ เขาพบว่าโดยสถิติแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะแม้ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ว่าตัวเลขประชากรเกิดใหม่นั้นสวนทางโดยสิ้นเชิง ซึ่งจำนวนประชากรเกิดใหม่ในหลายประเทศลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
เขายังระบุอีกด้วยว่าครอบครัวในปัจจุบันเลือกที่จะมีลูกน้อยลง และปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก จึงทำให้แม้ว่าประชากรโลกน่าจะมีประมาณ 11,200 ล้านคนในปี 2100 แต่อัตราการเกิดในปี 1960 คือ 2 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร ซึ่งตัวเลขนี้กำลังลดลงเรื่อย ๆ จนคาดว่าในปี 2100 จะมีอัตราการเกิดต่ำกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ และเขาเชื่อว่าการพัฒนาด้านสาธารณสุขยิ่งเร็ว ขนาดของครอบครัวก็ยิ่งลดลงเร็วเช่นกัน
หลายปีมานี้ บิล เกตส์ และภรรยา เมลินดา หันมาทำงานส่งเสริมสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพทั้งการรักษา การเข้าถึงยาและวัคซีน ในประเทศกำลังพัฒนา และปีนี้มูลนิธิบิลและเมลินดา ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมงานด้านการพัฒนาสังคมในมิติต่าง ๆ รวมถึงด้านสาธารณสุขมีแผนจะใช้งบประมาณราว 180 ล้านดอลลาร์ หรือราว 5,800 ล้านบาท ในการส่งเสริมการแก้ปัญหาโรคมาลาเรียในแถบภูมิภาคอเมริกากลาง
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2016 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิต เพราะไม่สามารถเข้าถึงการบริการและการรักษาขั้นพื้นฐาน ถึง 5.6 ล้านคน และเด็กในเขตประเทศแอฟริกาใต้เขตตอนใต้ทะเลทรายซาฮารามีอัตราการตายสูงกว่าถึง 15 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูง